การพัฒนารูปแบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จังหวัดสงขลา

ผู้แต่ง

  • ชุติมา คงจันทร์

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

            การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสถานการณ์การดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จังหวัดสงขลา 2) ศึกษาการพัฒนารูปแบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง และ 3) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง โดยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง จากพื้นที่ของกองทุนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง คือ ดำเนินงานมาแล้วมากกว่า 3 ปี ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงอย่างต่อเนื่อง และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จำนวน 4 แห่ง กระจายตามพื้นที่ ผู้ให้ข้อมูลจาก
เจ้าหน้าที่สาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้จัดการระบบดูแลระยะยาว (Care Manager) ผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Caregiver) และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 12 สงขลา รวม 44 คน เก็บข้อมูลจากการสนทนากลุ่ม การสัมภาษณ์เชิงลึก โดยใช้แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา

          ผลการศึกษา พบว่า สถานการณ์การดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ของจังหวัดสงขลา ปีงบประมาณ 2564 มีผู้สูงอายุคัดกรอง ADL 148,177 คน
คิดเป็นร้อยละ 72.43 เป็นกลุ่มติดสังคม (ADL 12 - 20) ร้อยละ 94.96 กลุ่มติดบ้าน (ADL 5 - 11) ร้อยละ 4.21 และกลุ่มติดเตียง (ADL 0 - 4)
ร้อยละ 0.83 มีผู้จัดการระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาว จำนวน 360 คน ผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง จำนวน 1,516 คน มีกองทุนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงขอรับงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 59 แห่ง มีผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง จำนวน 2,284 คน ได้รับงบประมาณ 13,704,000 บาท ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแลตาม Care plan จำนวน 1,005 คน การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีดังนี้ 1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหลักในการบริหารและจัดการกองทุน รวมทั้งประสานหาแหล่งงบประมาณอื่นในการดำเนินงานให้เพียงพอ 2) หน่วยจัดบริการที่เป็นศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ จะดำเนินการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชนได้ดี มีขั้นตอนการดำเนินงานที่ไม่ซับซ้อนเนื่องจากเป็นภาคประชาชน 3) ผู้จัดการระบบดูแลระยะยาว (Care Manager) ประเมิน ADL และจัดทำ Care plan ร่วมกับผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ ญาติ และทีมสหวิชาชีพ ทำให้มีแผนการดูแลที่ละเอียดสอดคล้องกับความต้องการ การรับบริการของผู้สูงอายุแต่ละราย
4) ผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Caregiver) มีระบบพี่เลี้ยง และเครือข่ายในการดูแลภายใต้การกำกับและให้คำปรึกษาของผู้จัดการดูแล
ผู้สูงอายุ หลังการพัฒนาได้รูปแบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง คือ “3 CHANA Model” ได้แก่ Case Manager, Caregiver,
Care Plan, Health Care Fund, Approach, Network และ ADL

            ข้อเสนอเชิงนโยบายในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง คือ สร้างกลไกการดำเนินงานดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน โดยให้ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุเป็นหน่วยจัดบริการ, แสวงหาความร่วมมือด้านงบประมาณกับกองทุนอื่นๆ และผลักดันประเด็นการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาระพึ่งพิง
ในการขับเคลื่อนของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ

 

คำสำคัญ : ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง, การดูแลระยะยาว, ผู้จัดการระบบดูแลระยะยาว, ผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2023-04-18

ฉบับ

บท

Original Articles (นิพนธ์ต้นฉบับ)