การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

ผู้แต่ง

  • ปัทมาพร ชนะมาร Wapipathum Hospital Mahasarakham Province

บทคัดย่อ

การวิจัยและพัฒนานี้ เพื่อพัฒนาและศึกษาผลลัพธ์ของรูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หน่วยบริการสุขภาพวาปีปทุม อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ดำเนินการวิจัย 4 ระยะ 1) ศึกษาสถานการณ์ 2) พัฒนารูปแบบ 3) ทดลองใช้ และ 4) ประเมินผล กลุ่มตัวอย่างมี 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 83 คน ผู้ดูแลหลัก 83 คน และสหสาขาวิชาชีพ 36 คน เครื่องมือที่ใช้ 1) คู่มือการดูแลผู้ป่วย 2) แบบประเมิน Barthel Index Score 3) แผนการดูแล 4) แบบทดสอบความรู้ของผู้ดูแลผู้ป่วย 5) แบบประเมินสมรรถนะของผู้ดูแล 6) แบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ดูแล 7) แบบตรวจสอบการปฏิบัติตามแผนการดูแล 8) แบบสัมภาษณ์ทีมสหสาขาวิชาชีพและผู้ดูแล เก็บรวบรวมข้อมูลเดือนตุลาคม 2560 ถึง มีนาคม 2562 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย เปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยด้วยสถิติทดสอบที (Paired t-test) ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis)  

            ผลการวิจัย 1) ด้านรูปแบบ ได้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เครือข่ายโรงพยาบาลวาปีปทุม 2) ผลลัพธ์ด้านผู้ป่วย พบความรุนแรงลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = <.001) ความสามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันเพิ่มขึ้น (p = <.001) ความพิการลดลง (p = <.001) วันนอน ลดลง (p = .015) และค่ารักษาพยาบาลลดลง (p = .035) ไม่พบการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และแผลกดทับ พบการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะและกลับมารักษาซ้ำภายใน 28 วัน พบร้อยละ 1.6  3) ด้านผู้ดูแล พบว่ามีความรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น (p = <.001) 4. ผลลัพธ์ด้านผู้ให้บริการ พบว่า สหวิชาชีพส่วนใหญ่ปฏิบัติตามแนวทาง ร้อยละ 100 โภชนาการปฏิบัติได้ ร้อยละ 40 และมีความพึงพอใจโดยรวมอยู่ในระดับมาก ดังนั้นควรมีนำรูปแบบไปใช้เพื่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้รับการดูแลโดยผู้ดูแล และสหวิชาชีพร่วมกันดูแลอย่างต่อเนื่องทำให้ผลการรักษาดีขึ้น

 

คำสำคัญ : รูปแบบการดูแล ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2023-10-18

ฉบับ

บท

Original Articles (นิพนธ์ต้นฉบับ)