การพัฒนาคุณภาพการพยาบาลผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังที่มีแผลกดทับในชุมชน
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพการพยาบาลผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังที่มีแผลกดทับในชุมชน ในบริบทพื้นที่อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ระยะเวลาที่ศึกษา ตุลาคม 2558 ถึง กันยายน 2563 ผู้ร่วมวิจัยประกอบด้วย 4 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาคีสุขภาพ ครอบครัว ชุมชน และสังคม จำนวน 52 คน และผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังที่มีแผลกดทับ จำนวน 10 คน ดำเนินการวิจัยใน 3 ระยะ คือ 1) วิเคราะห์สถานการณ์ 2) ดำเนินการพัฒนา และ 3) ประเมินผล เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่ม การสังเกต การบันทึกภาคสนาม แบบประเมินการหายของแผลกดทับ และแบบประเมินคุณภาพชีวิต วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการศึกษา พบว่า 1) ผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังที่มีแผลกดทับในชุมชนต้องการการดูแลอย่างต่อเนื่อง แต่การดูแลของ 4 ภาคีเครือข่ายยังคงแยกส่วน
2) ได้รูปแบบการการดูแลผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังที่มีแผลกดทับในชุมชนที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่วาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ประกอบด้วย 1) ปัจจัยนำเข้า ได้แก่ การวิเคราะห์สถานการณ์ภายใต้บริบทผู้ป่วย ผู้ดูแล ทีมสุขภาพ ชุมชนและภาคีเครือข่าย 2) กระบวนการจัดการดูแล T3C-MSE Model ได้แก่ สร้างทีมพื้นที่ (care Team : T) ชุมชนมีส่วนร่วม (Community participation: C) วิเคราะห์ความต้องการของผู้ป่วย (Customer focus: C) เรียนรู้จากบุคคลต้นแบบ (Modeling: M) สร้างแรงสนับสนุนทางสังคม (Social support: S) มีการประเมินผล (Evaluation: E) และมีความต่อเนื่อง (Continuing: C) และ 3) ผลลัพธ์ที่คาดหวัง ได้แก่ ผลลัพธ์ต่อผู้ป่วย ภาคีเครือข่าย และทีมสุขภาพ 3) ผลลัพธ์การพัฒนา 1) ด้านผู้ป่วยพบว่า ค่าเฉลี่ยคะแนนความรุนแรงของแผลลดลง อัตราการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ลดลงร้อยละ 70 ไม่พบอัตราการกลับรักษาซ้ำที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยมีค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพชีวิตในระดับดี 2) ด้านภาคีเครือข่ายในชุมชน: มีทีมการดูแลผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังที่มีแผลกดทับในชุมชนและการบริหารจัดการดูแลบูรณาการ 3) ด้านทีมสุขภาพ: ได้การจัดการดูแลทางการพยาบาลในระยะเปลี่ยนผ่านและต่อเนื่อง รวมทั้งได้เครื่องมือและนวัตกรรมช่วยในแต่ละระยะของการดูแล ทีมสุขภาพมีความความพึงพอใจต่อการนำรูปแบบไปใช้ ในระดับดีมาก
คำสำคัญ : การพัฒนาคุณภาพการพยาบาล, แผลกดทับ, ผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลัง