การพยาบาลผู้ป่วยโรคเลปโตสไปโรซิส ที่รับการรักษาโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม : กรณีศึกษา 2 ราย

ผู้แต่ง

  • ปิยะพัชร เหล่าบุรี Maha Sarakham Hospital Maha Sarakham Province

บทคัดย่อ

ความเป็นมา : โรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู เป็นโรคที่เกิดจากติดเชื้อแบคทีเรียก่อให้เกิดพยาธิสภาพและอาการได้หลายระบบโดยเฉพาะระบบไต ทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันร่วมกับภาวะช็อคและภาวะการหายใจล้มเหลว การรักษาด้วยวิธีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ที่รวดเร็วทันเวลาจะสามารถประคับประคองให้ไตกลับมาทำงานได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด

วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาการพยาบาลผู้ป่วยโรคเลปโตสไปโรซิสที่รับการรักษาโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม โดยเปรียบเทียบกรณีศึกษา 2 ราย 

ผลการศึกษา พบว่า ผู้ป่วยโรคเลปโตสไปโรซิสทั้ง 2 ราย มีอาการและอาการแสดงที่คล้ายกัน คือ ไข้สูง ตาเหลือง เป็นอาการนำมาโรงพยาบาล และภาวะติดเชื้อรุนแรงและไตวายเฉียบพลัน โดยกรณีศึกษารายที่ 1 มีประวัติสัมผัสเชื้อน้อยกว่า 1 สัปดาห์ มาด้วยอาการแน่นท้อง ถ่ายดำ 1 ครั้ง ปวดเมื่อยตามตัว แพทย์วินิจฉัยเป็น Severe Leptospirosis with Acute kidney injury หลังได้ข้อมูลแนวทางการรักษาญาติยินยอมรับการรักษาโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมทันที ขณะฟอกเลือดไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง หลังการฟอกเลือด 1 ครั้ง ผู้ป่วยอาการดีขึ้นตามลำดับ วันที่ 4 ของการรับไว้รักษาในโรงพยาบาลพบผลการทำงานของไตดีขึ้น แพทย์ยุติการฟอกเลือดและถอดสายสวนคาหลอดเลือดดำ จำหน่าย Refer back รพช. เพื่อให้ Antibiotic เนื่องจากยังมีไข้ ซึ่งแตกต่างจากกรณีศึกษารายที่ 2 ที่มีประวัติสัมผัสเชื้อนานกว่า 1 สัปดาห์ มีไข้สูง และมีภาวะติดเชื้อรุนแรงที่เรียกว่า Weil’s syndrome ร่วมกับภาวะ shock ทำให้เกิดพยากรณ์โรคที่ไม่ดีเนื่องจากมีพยาธิสภาพที่ปอด ตับ และไตรุนแรง หลังได้ข้อมูลแนวทางการรักษา ผู้ป่วยปฏิเสธการใส่ท่อช่วยหายใจและการฟอกเลือด เนื่องจากกลัวการรักษา ส่งผลให้วันที่ 2 ของการรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เกิดภาวะหายใจล้มเหลว ได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ ย้ายรับการรักษาโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมในหอผู้ป่วยหนักอายุรกรรม แม้ไม่พบภาสวะแทรกซ้อนรุนแรงขณะฟอกเลือด แต่ยังต้องติดตามประเมินอาการ อาการแสดง ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และ I/O แต่ยังพบผลการทำงานของไตยังไม่ดีขึ้น จึงต้อง Set hemodialysis ซ้ำ หลังการฟอกเลือด 2 ครั้ง ผลการทำงานของไตมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังต้องติดตามผลการทำงานของไต จำหน่าย Refer back รพช. เพื่อให้ Antibiotic และนัดติดตามผลการทำงานของไต วันที่ 16 พฤษภาคม 2565 พบการทำงานของไตดีขึ้น Off Right femoral double lumen catheter

โดยกรณีศึกษารายที่ 1 มีปัญหาที่สำคัญคือภาวะติดเชื้อในร่างกาย ร่วมกับภาวะไตวายเฉียบพลันร่วมกับภาวะเสียสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย มาโรงพยาบาลด้วยอาการแน่นท้อง ถ่ายดำ 1 ครั้ง ปวดเมื่อยตามตัว ในระหว่างการรับการรักษาด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมไม่พบภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ญาติและผู้ป่วยมีภาวะวิตกกังวลของการเจ็บป่วยหลังได้รับข้อมูลการรักษาพยาบาลแล้วเข้าใจให้ความร่วมมือในการรักษาเป็นอย่างดี ส่วนผู้ป่วยรายที่ 2 เนื่องจากมีการสัมผัสเชื้อนานกว่า จึงทำให้พบภาวะติดเชื้อที่รุนแรงกว่า นอกจาก มีไข้สูง ตัวตาเหลืองแล้ว ยังพบภาวะช็อค ภาวะซีด ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ หายใจหอบเหนื่อย เนื่องจากผู้ป่วยและญาติกลัวการรักษาจึงปฏิเสธการรักษาในช่วงแรก จนทำให้อาการทรุดลง ต้องรับการรักษาเร่งด่วนคือใส่ท่อช่วยหายใจ และฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ในหอผู้ป่วยหนักอายุรกรรม ให้การพยาบาลอย่างใกล้ชิดในการติดตาม เฝ้าระวัง ภาวะติดเชื้อ ภาวะหายใจล้มเหลว ภาวะช็อค ภาวะ Electrolyte imbalance ภาวะซีด รวมถึงการเฝ้าระวังป้องกันภาวะแทรกซ้อนขณะและหลังการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จนต้องใช้เวลาในการรักษาและการฟื้นตัวของการทำงานของไต นานกว่ากรณีศึกษารายที่ 1    

คำสำคัญ: โรคฉี่หนู ภาวะไตวายเฉียบพลัน การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2023-10-18

ฉบับ

บท

Original Articles (นิพนธ์ต้นฉบับ)