การพัฒนารูปแบบการบำบัดนักเรียนติดบุหรี่ ในโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งหนึ่ง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม

ผู้แต่ง

  • วิวัฒนา เรืองฤทธิ์ Kosumphisai Hospital Mahasarakhampa Provincial

บทคัดย่อ

บทนำ นักเรียนมัธยมศึกษาเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงในการใช้สารเสพติดโดยเฉพาะบุหรี่ ซึ่งการบำบัดในกลุ่มนี้ยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนารูปแบบการบำบัดที่เหมาะสม สอดคล้องกับปัญหาและวิถีชีวิตของนักเรียน อันจะส่งผลต่อการหยุดหรือลดการสูบบุหรี่ลง โดยการศึกษาสถานการณ์นักเรียนติดบุหรี่แล้วนำมาพัฒนารูปแบบการบำบัดนักเรียนติดบุหรี่ในโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ในอำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม และศึกษาประสิทธิผลของการใช้รูปแบบที่ได้พัฒนาขึ้น เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ระยะเวลาวิจัย เมษายน 2565 – กันยายน 2566 กลุ่มเป้าหมายและผู้ร่วมวิจัย ได้แก่ นักเรียนผู้ติดบุหรี่ ครอบครัวนักเรียน ผู้รับผิดชอบงานยาเสพติดโรงพยาบาลโกสุมพิสัย บุคลากรในโรงเรียนที่ศึกษา รวม 70 คน เก็บข้อมูล ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ข้อมูลเชิงคุณภาพวิเคราะห์โดยการวิเคราะห์เนื้อหา ข้อมูลเชิงปริมาณวิเคราะห์โดยใช้สถิติ จำนวน ร้อยละ

ผลการศึกษา : 1) โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ พบปัญหาเรื่อง นักเรียนติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ปี 2564 พบกลุ่มติดสารนิโคตินระดับปานกลาง ร้อยละ 4.97 ระดับสูง ร้อยละ 1.11 และระดับสูงมาก ร้อยละ 0.33 แม้โรงเรียนจะมีการดำเนินนโยบายโครงการสถานศึกษาสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข สถานศึกษาปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งหากจุดเริ่มต้นด้วยการสูบบุหรี่แล้วมักจะนำสู่การใช้ยาเสพติดชนิดต่างๆ ที่ผิดกฎหมายได้ง่ายขึ้น 2) การพัฒนารูปแบบการบำบัดนักเรียนติดบุหรี่ ได้มีการประชุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง วิเคราะห์สถานการณ์ปัญหา อบรมให้ความรู้นักเรียน จัดทำรูปแบบการบำบัดบุหรี่ในโรงเรียน ประกอบด้วย โปรแกรมการบำบัดบุหรี่ในโรงเรียนร่วมกับมาตรการสถานศึกษาปลอดบุหรี่และการให้คำปรึกษาครอบครัว ให้การบำบัดตามรูปแบบที่พัฒนาขึ้น ติดตามเยี่ยมบ้านให้คำปรึกษาครอบครัว 1 - 2 ครั้ง และติดตามฟื้นฟูหลังการบำบัด 7 ครั้ง ในระยะ 1 ปี
คืนข้อมูลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อหาปัญหาและแนวทางการดำเนินงานแต่ละวงรอบ จนได้รูปแบบการบำบัดนักเรียนติดบุหรี่ในโรงเรียนมัธยมศึกษา
3) ผลของการพัฒนารูปแบบ เมื่อติดตามหลังการบำบัดครบ 1 ปี นักเรียนที่เข้ารับการบำบัด ตามรูปแบบที่พัฒนาขึ้น ร้อยละ 100 พบว่า สามารถหยุด
สูบบุหรี่ในระยะติดตาม 1 ปีร้อยละ 87 และ ร้อยละ 13 เปลี่ยนจากกลุ่มติดนิโคตินระดับสูงลดการสูบบุหรี่ลงเป็นกลุ่มที่ไม่นับว่าติดสารนิโคติน

สรุป การพัฒนารูปแบบการบำบัดนักเรียนติดบุหรี่ ในโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งหนึ่ง ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของนักเรียน ทำให้นักเรียนได้รับการบำบัดและการติดตามช่วยเหลือจากบุคลากรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการดูแลอย่างเหมาะสมจากครอบครัว อันจะนำสู่การเลิกสูบบุหรี่ของนักเรียนได้อย่างเด็ดขาดต่อไป

 

คำสำคัญ : การพัฒนารูปแบบ, บำบัดบุหรี่

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2023-10-18

ฉบับ

บท

Original Articles (นิพนธ์ต้นฉบับ)