ผลของโปรแกรมการจัดการโรคเบาหวานด้วยตนเองต่อพฤติกรรมการจัดการตนเอง ระดับน้ำตาลสะสมในเลือด และผลลัพธ์ทางคลินิกของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : ศึกษาผลของโปรแกรมการจัดการโรคเบาหวานด้วยตนเองต่อพฤติกรรมการจัดการตนเอง ระดับน้ำตาลสะสมในเลือดและผลลัพธ์ทางคลินิก ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้
รูปแบบและวิธีวิจัย : การวิจัยกึ่งทดลอง (quasi-experimental research) แบบกลุ่มเดียวทดสอบก่อนหลัง (one group pretest-posttest design) กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2ที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ คัดเลือกแบบเจาะจงตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยใช้โปรแกรมการจัดการโรคเบาหวานด้วยตนเอง เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป และแบบสอบถามพฤติกรรมการจัดการตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน เก็บรวบรวมข้อมูล ระหว่างเดือน กุมภาพันธ์ - เมษายน พ.ศ. 2566 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติเชิงเปรียบเทียบใช้ Paired t-test กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05
ผลการศึกษา : คะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการจัดการตนเอง หลังทดลองสูงกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ขณะที่ค่าเฉลี่ย HbA1c และผลลัพธ์ทางคลินิก ได้แก่ ระดับน้ำตาลในเลือด ก่อนอาหารเช้า ดัชนีมวลกาย และรอบเอวของกลุ่มตัวอย่าง หลังการทดลองลดลงกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
สรุปผลการศึกษา : ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าโปรแกรมการจัดการโรคเบาหวานด้วยตนเองมีประโยชน์ต่อการส่งเสริมการดูแลตนเองในผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลไม่ได้ในสถานบริการปฐมภูมิ
คำสำคัญ : โปรแกรมการจัดการโรคเบาหวานด้วยตนเอง พฤติกรรมการจัดการตนเอง ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้