ศึกษาสถานการณ์เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพและพัฒนาแนวทางการรายงานเชื้อดื้อยา ของโรงพยาบาลกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสถานการณ์เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ และ 2) เพื่อพัฒนาแนวทางการรายงานเชื้อดื้อยาของโรงพยาบาลกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ด้วยการศึกษาย้อนหลัง (Retrospective study) จากใบรายงานผลเพาะเชื้อและผลทดสอบความไวของเชื้อต่อยาต้านจุลชีพของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลกาบเชิงในช่วง 1 มกราคม 2563 - 31 ธันวาคม 2565 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนาและการวิเคราะห์เนื้อหา การวิจัยไม่พบเชื้อดื้อยาหลายชนิด (MDR) ในเลือด แต่พบในเสมหะ พบเชื้อดื้อยากลุ่ม Klebsiella pneumoniae และ Pseudomonas aeruginosa ทำการเปรียบเทียบ ย้อนหลัง 2563 - 2565 ปี คิดเป็นร้อยละ 17.14, 13.33 และ 16.67 ตามลำดับ ในปัสสาวะเป็นเชื้อ Escherichia coli, Klebsiella pneumoniae และ Pseudomonas aeruginosa ข้อมูลย้อนหลังพบ ร้อยละ 43.18, 34.62 และ 19.05 ตามลำดับ ปัญหาอุปสรรคคือมีการส่งตรวจต่อล่าช้า การรายงานผลที่ไม่เป็นปัจจุบัน การใช้แนวทางการรักษาโรคติดเชื้อโดยการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะแบบ empiric การศึกษานี้ได้เสนอแนวทางพัฒนาการรายงานเชื้อดื้อยา ได้แก่ การรายงานผล gram stain เบื้องต้นก่อนส่งวิเคราะห์เชื้อและความไวของเชื้อต่อยาจากการเพาะเชื้อในเลือด การสแกนผลเพาะเชื้อลงระบบของหน่วยงานการพัฒนาการรายงานผลเพาะเชื้อโดยใช้ Antibiogram และแบบฟอร์มรายงานสถานการณ์เชื้อดื้อยาของโรงพยาบาลกาบเชิง ทีมสหวิชาชีพควรสนับสนุนการวางระบบเฝ้าระวังการติดเชื้อดื้อยาร่วมกัน และนำ Antibiogram มาใช้สนับสนุนในการดูแลรักษาผู้ป่วย การพิจารณาเลือกชนิดยาปฏิชีวนะ การเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมการติดเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาลต่อไป
คำสำคัญ: การติดเชื้อดื้อยา, การเพาะเชื้อ, Antibiogram, ติดเชื้อในโรงพยาบาล, สิ่งส่งตรวจ