การพัฒนารูปแบบการพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด โรงพยาบาลวาปีปทุม
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและศึกษาผลลัพธ์รูปแบบการพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด ดำเนินการวิจัย 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาเชิงพรรณนาเพื่อศึกษาสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนที่ 2 การศึกษาเชิงปฏิบัติการเพื่อออกแบบรูปแบบการพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด และทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 25 ราย ขั้นตอนที่ 3 ศึกษาผลลัพธ์ของรูปแบบ โดยออกแบบวิธีการศึกษาแบบกลุ่มเดียววัดภายหลัง
กลุ่มตัวอย่างเป็นหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด จำนวน 86 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง คือ รูปแบบการพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบบันทึกข้อมูลทั่วไป ข้อมูลทางสูติกรรมและแบบบันทึกทางการพยาบาล วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปโดยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ และใช้สถิติ One sample t-test ผลการวิจัย พบว่า 1) รูปแบบการพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด ประกอบไปด้วยการให้การพยาบาลที่ห้องรับใหม่การพยาบาลที่ห้องสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด และการติดตามขณะพักฟื้น ซึ่งพยาบาลวิชาชีพสามารถใช้รูปแบบการพยาบาลนี้ได้ ร้อยละ 100 2) ผลลัพธ์ของรูปแบบการพยาบาลพบว่า ร้อยละ 84.88 ของหญิงตั้งครรภ์มีระยะเวลาในการได้รับการวินิจฉัยเบื้องต้นหลังจากแรกรับ ใช้เวลาน้อยกว่าค่าเป้าหมาย คือ 30 นาที อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p < .001 ส่วนระยะเวลาการได้รับยายับยั้งการหดรัดตัวของมดลูกหลังแพทย์มีคำสั่งการรักษา พบว่า ร้อยละ 83.72 ของหญิงตั้งครรภ์ ใช้เวลามากกว่าค่าเป้าหมาย (15 นาที) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p < .001 และพบว่า ร้อยละ 81.40 ของหญิงตั้งครรภ์ สามารถยืดอายุครรภ์ได้มากกว่า 48 ชั่วโมง ซึ่งมากกว่าค่าเป้าหมายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p < .001 รูปแบบการพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิผลในการลดระยะเวลาแรกรับ ช่วยยืดอายุครรภ์ และสามารถลดระยะเวลาในการได้รับยาตามแผนการรักษาได้
คำสำคัญ : รูปแบบการพยาบาลหญิงตั้งครรภ์, ภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด