การพัฒนารูปแบบการพยาบาลผู้ป่วยทารกและเด็กที่มีภาวะหายใจลำบาก ที่ใช้ออกซิเจน High-Flow Nasal cannula (HFNC) โรงพยาบาลวาปีปทุม

ผู้แต่ง

  • หอมจันทร์ จันโทสุทธิ์

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

            การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาและประเมินผลลัพธ์การใช้รูปแบบการพยาบาลผู้ป่วยทารกและเด็กที่มีภาวะหายใจลำบากที่ใช้ออกซิเจน High-Flow Nasal cannula (HFNC) หอผู้ป่วยในเด็ก โรงพยาบาลวาปีปทุม กลุ่มผู้ร่วมศึกษา เลือกแบบเฉพาะเจาะจง ได้แก่ 1) พยาบาลวิชาชีพประจำหอผู้ป่วยในเด็ก จำนวน 15 คน 2) ผู้ป่วยทารกและเด็กที่มีภาวะหายใจลำบากที่ใช้ออกซิเจน High-Flow Nasal cannula (HFNC) 111 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกที่ใช้รูปแบบการพยาบาลแบบเดิม 24 คน กลุ่มที่ 2 ใช้รูปแบบการพยาบาลผู้ป่วยตามรูปแบบที่พัฒนาขึ้น จำนวน 87 คน เครื่องมือในการดำเนินการวิจัยและเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย 1) เครื่องมือเชิง คุณภาพ ได้แก่ แบบสังเกตแบบมีส่วนร่วม แนวคําถามในการประชุมกลุ่ม และแนวคําถามในการสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการ 2) เครื่องมือเชิงปริมาณ ได้แก่ แบบรวบรวมข้อมูลผู้ป่วย แบบบันทึกข้อมูลพยาบาลวิชาชีพ แบบบันทึกการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติ แบบบันทึกผลลัพธ์การพยาบาล และความพึงพอใจของพยาบาลวิชาชีพ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหาเชิงปริมาณโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

            ผลการวิจัยหลังใช้รูปแบบที่พัฒนาขึ้น พบว่า การทรุดลงระหว่างบําบัดด้วยออกซิเจนอัตราการไหลสูง ลดลงจาก
ร้อยละ 8.33 เป็น 3.45 จำนวนวันใช้ออกซิเจน อัตราการไหลสูงลดลงจากค่าเฉลี่ย 3.29 (SD±1.19) เป็น 2.63 (SD±1.12) วัน จำนวนวันนอนเฉลี่ยลดลงจาก 4.63 (SD±1.43) เป็น 4.32 (SD±1.63) วัน อย่างมีนัยสําคัญทางสถิติ ความพึงพอใจของพยาบาลวิชาชีพต่อการใช้รูปแบบในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด สรุปว่ารูปแบบการพยาบาลผู้ป่วยทารกและเด็กที่มีภาวะหายใจลำบากที่ใช้ออกซิเจน High-Flow Nasal cannula (HFNC) ที่พัฒนาขึ้นมีความเหมาะสมกับบริบทให้ผลลัพธ์ที่ดี

 

คำสำคัญ : การใช้ High-flow nasal cannula, ภาวะหายใจลำบาก, รูปแบบการพยาบาล

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2024-06-24

ฉบับ

บท

Original Articles (นิพนธ์ต้นฉบับ)