การพยาบาลผู้ป่วยเส้นเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพองที่ได้รับการส่งต่อ : กรณีศึกษา

ผู้แต่ง

  • ยุภาภรณ์ ผ่านสำแดง

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

            ความเป็นมา : โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ช่องท้องโป่งพอง (Abdominal Aortic Aneurysm)  เป็นภาวะวิกฤตและฉุกเฉินที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ซึ่งหลอดเลือดแดงใหญ่ (Aorta) เป็นท่อนำเลือดแดงจากหัวใจไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย หากหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองปริแตกจะทำให้เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตและเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของทั่วโลกและประเทศไทย การได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาพยาบาลที่ถูกต้องและเหมาะสมในภาวะวิกฤตเร่งด่วนรวมถึงการส่งต่อที่รวดเร็วสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย

            วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผู้ป่วยโรคเส้นเลือดแดงใหญ่ช่องท้องโป่งพอง ในกรณีศึกษา 2 ราย ถึงสาเหตุ พยาธิสภาพ อาการและอาการแสดง การรักษาพยาบาล การส่งต่อที่ถูกต้องและรวดเร็วจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและภาวะแทรกซ้อน

            วิธีการศึกษา : ศึกษาเป็นรายกรณีแบบเฉพาะเจาะจง จำนวน 2 ราย ดำเนินการศึกษาระหว่าง เดือนกันยายน 2566 - ตุลาคม 2566        

            ผลการศึกษา : จากการศึกษาผู้ป่วยโรคเส้นเลือดแดงใหญ่ช่องท้องโป่งพอง 2 ราย พบว่า รายที่ 1  ผู้ป่วยชายไทย อายุ 85 ปี ขณะนั่งกินข้าวบ่นปวดท้อง ซึมลง 1 ชั่วโมงก่อนมาโรงพยาบาลสุวรรณภูมิ แพทย์ตรวจวินิจฉัยพบมีเส้นเลือดแดงใหญ่ช่องท้องโป่งพองร่วมกับมีภาวะช็อค จึงส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ดอย่างเร่งด่วนโดยทีมเจ้าหน้าที่ทางการพยาบาลและทำผ่าตัด Coved Endovascular Reconstruction  of Aortic Bifurcation (CERAB) หลังผ่าตัดผู้ป่วยมีอาการทรุดลง ญาติจึงขอปฏิเสธการรักษานำผู้ป่วยกลับไปรักษาแบบประคับประคองที่บ้าน รวมระยะเวลาทำการรักษาที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ด 11 วัน รายที่ 2 ผู้ป่วยชายไทย อายุ 80 ปี 2 วันก่อนมาโรงพยาบาล มีอาการปวดแน่นท้องตรงกลางสะดือ ไม่มีร้าวไปที่ใด ไม่มีปวดหรือชาหรือแขนขนอ่อนแรง ไม่อาเจียน วันนี้ปวดท้องมากขึ้นไปรักษาที่คลีนิค แพทย์แนะนำให้ไปโรงพยาบาลชุมชน ญาตินำผู้ป่วยส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลอาจสามารถ ตรวจพบก้อนที่ท้องมีขนาดใหญ่กว่าเดิมขนาดโตขึ้นจากที่เคยตรวจพบเมื่อปี พ.ศ. 2565 ขนาด 5 cm. เพิ่มขนาดเป็น 5.9 cm. จำเป็นจะต้องส่งรักษาต่อที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ดอย่างเร่งด่วน โดยเจ้าหน้าที่ทางการพยาบาล แพทย์วินิจฉัยพบว่ามีภาวะเส้นเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพอง (Abdominal aortic aneurysm) ได้รับการผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียมผ่านสายสวน (Endovascular Aneurysm Repair) อาการดีขึ้น รวมระยะรักษาตัวที่โรงพยาบาล 11 วัน

           สรุป : ผู้ป่วยโรคเส้นเลือดแดงใหญ่ช่องท้องโป่งพองเป็นภาวะวิกฤตและฉุกฉินที่ต้องได้รับการรักษาพยาบาลที่ได้ตามมาตรฐานจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและทีมสหวิชาชีพที่มีทักษะ ความรู้ ความสามารถและสมรรถนะ สามารถคัดกรอง วินิจฉัยและให้การรักษาพยาบาลได้อย่างถูกต้องรวดเร็วรวมถึงการส่งต่อที่มีคุณภาพ และเฝ้าระวังภาวะผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในการดูแลรักษา เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเกิดอาการทรุดหนักไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยปลอดภัยและมีอัตราการรอดชีวิตมากขึ้น 

 

คำสำคัญ : โรคเส้นเลือดแดงใหญ่ช่องท้องโป่งพองที่ได้รับการส่งต่อ กรณีศึกษา การพยาบาล

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2024-06-24

ฉบับ

บท

Original Articles (นิพนธ์ต้นฉบับ)