การพยาบาลผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มีอาการหอบกำเริบเฉียบพลัน : กรณีศึกษา

ผู้แต่ง

  • คุณัญญา พละศักดิ์

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

            การศึกษาแบบกรณีศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการพยาบาลผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มีอาการหอบกำเริบเฉียบพลัน ที่โรงพยาบาลประทาย จังหวัดนครราชสีมา โดยเป็นผู้ป่วยกรณีศึกษา 1 ราย ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มีอาการหอบกำเริบเฉียบพลันอยู่ในระดับรุนแรง เก็บรวบรวมข้อมูลโดย การสัมภาษณ์เชิงลึกและการสังเกต วิเคราะห์ข้อมูล โดยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ผลการศึกษาพบว่า กรณีศึกษาเป็นเพศชาย อายุ 67 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มีอาการหอบกำเริบเฉียบพลัน อยู่ในระดับรุนแรง โดยมีปัจจัยชักนำ คือ 1) จากพยาธิสภาพของโรคที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจอย่างรุนแรงทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของปอดลดลงอย่างมาก จากการสูบบุหรี่จัดมานาน 30 ปี และผู้ป่วยยังมีพฤติกรรมที่ไม่เลิกสูบบุหรี่ขณะที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 2) มีการติดเชื้อทางเดินหายใจมีเสมหะเปลี่ยนสี 3) การประเมินติดตามอาการและการรักษายังไม่ครอบคลุม ประกอบกับโรงพยาบาลชุมชนไม่มียาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์ระยะยาว
โดยมีหลักการพยาบาลที่สำคัญ 3 ระยะ ได้แก่ 1) การประเมินสภาพแรกรับ 2) การพยาบาลเพื่อให้ได้ออกซิเจนอย่างเพียงพอ 3) การประสานความร่วมมือและส่งต่อหอผู้ป่วยเพื่อการดูแลอย่างต่อเนื่อง พยาบาลผู้ป่วยนอกมีบทบาทสำคัญในการให้
การพยาบาลเมื่อแรกรับเพื่อป้องกันภาวะหายใจล้มเหลวจากความรุนแรงของโรค โดยการประเมินการเกิดภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจนได้อย่างรวดเร็วซึ่งต้องใช้ความรู้ความสามารถทางการพยาบาลทั้งภาคทฤษฎีและการปฏิบัติการพยาบาลตามมาตรฐานวิชาชีพ การให้การพยาบาลที่ถูกต้องรวดเร็ว ละเอียดรอบคอบและมีทักษะเฉพาะโรค เพื่อให้การดูแลมีประสิทธิภาพและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิต ทำให้ผู้ป่วยปลอดภัยและสามารถปฏิบัติตัวได้ถูกต้องเหมาะสมกับโรคที่เป็น ลดอาการหอบกำเริบซ้ำ

            ผลการศึกษาครั้งนี้มีข้อเสนอแนะสำหรับพยาบาลที่ปฏิบัติงานในเรื่องการพัฒนาทักษะและความรู้ในการประเมินอาการและการดูแลผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มีอาการหอบกำเริบเฉียบพลันอย่างครอบคลุม การให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องขณะเป็นโรคเน้นเรื่องการหยุดสูบบุหรี่ และการเสริมแรงจูงใจรวมทั้งสร้างพลังอำนาจให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดคุณภาพการพยาบาลและผลลัพธ์ที่ดีกับผู้ป่วย

 

คำสำคัญ : กรณีศึกษา, การพยาบาล, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, อาการหอบกำเริบเฉียบพลัน

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2024-06-24

ฉบับ

บท

Original Articles (นิพนธ์ต้นฉบับ)