การพยาบาลผู้ป่วยโรคฉี่หนูที่มีภาวะไตวายเฉียบพลันที่ได้รับการฟอกเลือด ด้วยเครื่องไตเทียม : กรณีศึกษา

ผู้แต่ง

  • นิภาภัทร พานิชกุล

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

            โรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซิส เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในสกุล Leptospira สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนจากการสัมผัสกับดินหรือน้ำที่ปนเปื้อนปัสสาวะของสัตว์ที่มีเชื้อ และอาจเกิดจากกินอาหาร น้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ ซึ่งผู้ป่วยได้รับเชื้อจะแสดงอาการได้หลายระบบ โดยเฉพาะระบบไตทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันเนื่องจาก Acute tubular necrosis ร่วมด้วยทำให้ปัสสาวะออกน้อยหรือไม่ออก ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง น้ำเกินในร่างกายจนถึงต้องได้รับการรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม  ซึ่งถ้ารักษาไม่ทันท่วงทีจะเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้

            กรณีศึกษาที่ 1 เป็นผู้ป่วยชายไทย อายุ 35 ปี มีอาชีพทำสวนยางพารา มีประวัติลุยน้ำทุกวัน 10 วันก่อนมาโรงพยาบาล 1 สัปดาห์ก่อนมาโรงพยาบาล มีไข้ ไอมีเสมหะ ปวดน่องสองข้าง 4 วันก่อนมาโรงพยาบาล มีไข้ ปวดเมื่อยตัว คลื่นไส้อาเจียน ไปรักษาที่คลินิกใกล้บ้าน แพทย์วินิจฉัยเป็นไข้หวัด ได้รับยามารับประทาน อาการดีขึ้นเล็กน้อย 2 วันก่อนมาโรงพยาบาล มีไข้ ตัวตาเหลือง เยื่อบุตาแดง จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชน ได้รับการตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อเลปโตสไปร่า พบผล Positive แสดงถึงการติดเชื้อและมีภาวะไตวายเฉียบพลันร่วมด้วยจึงส่งต่อมารักษาที่โรงพยาบาลศูนย์และได้รับการรักษาโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมซึ่งได้มีการประเมินอาการก่อนการฟอกเลือด ประเมินผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
เพื่อวางแผนการพยาบาลให้สอดคล้องกับแผนการรักษาของแพทย์ ในการระหว่างการฟอกเลือดผู้ป่วยได้รับการพยาบาลอย่างใกล้ชิด มีการวัดสัญญาณชีพทุก 15 - 30 นาที รักษาภาวะระบบไหลเวียนโลหิตให้คงที่มีการแก้ไขภาวะแทรกซ้อนด้วยเทคนิคการพยาบาลอย่างถูกต้อง เพื่อประคับประคอง ผู้ป่วยให้ได้การฟอกเลือดตามแผนการรักษา ในกรณีศึกษาผู้ป่วยรายนี้ได้รับการรักษาโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จำนวน 2 ครั้ง โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างฟอกเลือดและติดตามผลเลือดพบการทำงานของไตดีขึ้น จึงถอดสายฟอกเลือดชั่วคราวที่ขาหนีบออก รวมระยะเวลา นอนในโรงพยาบาลเป็นเวลา 7 วัน

             กรณีศึกษาที่ 2 เป็นผู้ป่วยชายไทย อายุ 59 ปี มีประวัติลุยน้ำไปหาปลาประมาณ 5 วันก่อนมาโรงพยาบาล 3 วันก่อนมาโรงพยาบาล มีไข้ ตัวตาเหลือง ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ ปวดน่อง 2 ข้าง 4 ชั่วโมงก่อนมาโรงพยาบาลมีอาการปวดแน่นท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่มาก เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลชุมชน มีภาวะช็อกจากการติดเชื้อ ความดันโลหิตต่ำ ปัสสาวะออกน้อย ได้รับการวินิจฉัยติดเชื้อแลปโตสไปโรซีสและมีภาวะไตวายเฉียบพลัน จึงได้รับการส่งต่อมารักษาที่โรงพยาบาลศูนย์
มีภาวะหายใจล้มเหลว ได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจ มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ มีภาวะซีด หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วมีภาวะทุพโภชนาการ และภาวะไตวายเฉียบพลันจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ผู้ป่วยรายนี้อยู่ในภาวะวิกฤตจำเป็นต้องได้รับการพยาบาลอย่างใกล้ชิด มีการประเมินอาการผู้ป่วยก่อนการฟอกเลือด วางแผนการให้การพยาบาล และมีการเฝ้าระวังป้องกันภาวะแทรกซ้อนขณะฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม วัดสัญญาณชีพทุก 15 นาที monitor EKG ติดตามเฝ้าระวังหัวใจเต้นผิดจังหวะ monitor O2sat  สำหรับผู้ป่วยรายนี้ได้รับการรักษาด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมรวม 3 ครั้งอาการดีขึ้นตามลำดับ ติดตามผลเลือดการทำงานของไตดีขึ้น และสามารถถอดท่อช่วยหายใจได้รวมระยะเวลาใส่ท่อช่วยหายใจ 7 วัน รวมระยะเวลานอนโรงพยาบาลเป็นเวลา 15 วัน แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ และนัดติดตามค่าการทำงานของไต 2 วันหลังจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล ติดตามผลเลือดการทำงานของค่าไตดีขึ้น จึงถอดสายสวนฟอกเลือดชั่วคราวที่ขาหนีบออก

            การศึกษาพบว่า ผู้ป่วยโรคฉี่หนูที่มีภาวะไตวายเฉียบพลัน เมื่อได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและเหมาะสม ด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมจะทำให้ผู้ป่วยมีการฟื้นฟูของไตเร็วขึ้น ลดภาวะแทรกซ้อน ที่รุนแรง ดังนั้นพยาบาลไตเทียม จึงต้องมีความรู้ ทักษะ สมรรถนะในการให้การพยาบาลผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมและมีแนวทางในการให้การพยาบาลผู้ป่วยที่เป็นมาตรฐานรวมทั้งต้องมีความรู้ในการประเมินผู้ป่วยก่อนการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม วางแผนการพยาบาล การเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนระหว่างการฟอกเลือด และติดตามผลการพยาบาลผู้ป่วยหลังได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการพยาบาลที่มีประสิทธิภาพได้มาตรฐานและปลอดภัย นอกจากนี้พยาบาลไตเทียมควรมีบทบาทในการให้ความรู้เรื่องโรคและการป้องกันการกลับเป็นซ้ำเมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น รวมทั้งแนะนำวิธีการปฏิบัติตนเพื่อฟื้นฟูการทำงานของไตให้เป็นปกติ

 

คำสำคัญ : การพยาบาล, โรคฉี่หนู, ภาวะไตวายเฉียบพลัน, การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

 

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2024-06-24

ฉบับ

บท

Original Articles (นิพนธ์ต้นฉบับ)