การพยาบาลผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันจากการใช้ยา Metformin ที่ได้รับการฟอกเลือด ด้วยเครื่องไตเทียม : กรณีศึกษา

ผู้แต่ง

  • พัชนี สมศักดิ์

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

            วัตถุประสงค์ : กรณีศึกษานี้มุ่งศึกษาการพยาบาลผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันจากการใช้ยา Metformin ที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

            วิธีการศึกษา : การศึกษาเปรียบเทียบผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลตรัง ดำเนินการศึกษาระหว่างวันที่
2 พฤศจิกายน 2565 - 1 สิงหาคม 2566 เครื่องมือที่ใช้คือการสัมภาษณ์ การสังเกต และข้อมูลจากเวชระเบียน

            ผลการศึกษา : ข้อมูลของผู้ป่วยทั้ง 2 ราย ที่เหมือนกัน อันได้แก่ 1) การวินิจฉัยโรค ซึ่งผู้ป่วย
ทั้ง 2 ราย เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูงเหมือนกัน 2) ยารับประทาน ผู้ป่วยทั้ง 2 ราย ได้รับยาเหมือนกัน คือ Metformin (500 mg) ครั้งละ 2 เม็ด เช้า-เย็น Glipizide (5) 1เม็ด วันละ 1 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า Amlodipine (10 mg) ครั้งละ 1 เม็ด หลังอาหารเช้า Enalapril (5 mg) 1 เม็ด หลังอาหาร เช้า-เย็น และ Simvastatin (20 mg) 1 เม็ด ก่อนนอน 3) อาการและอาการแสดง ผู้ป่วยรายที่ 1 มาด้วยอาการถ่ายเหลว อาเจียน หายใจเหนื่อยหอบ แต่ผู้ป่วยรายที่ 2
มาด้วยอาการ ไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร กินได้น้อย ถ่ายเหลว ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงของยา Metformin
ที่พบบ่อย อาการเหล่านี้หายเป็นปกติได้ เมื่อหยุดยาหรือลดขนาดยา และ 4) ภาวะไตวายเฉียบพลัน กรณีศึกษาทั้ง 2 ราย
มีภาวะไตวายเฉียบพลัน ซึ่งส่งผลให้มีการคั่งของน้ำและของเสีย รวมทั้งมีภาวะ Hyperkalemia เหมือนกัน

          ข้อมูลส่วนที่ต่างกันคือผู้ป่วยรายที่ 1 มีภาวะเลือดเป็นกรดรุนแรง (Severe Metabolic Acidosis) ระบบหายใจล้มเหลว ไม่มีปัสสาวะ ในขณะที่ผู้ป่วยรายที่ 2 มีภาวะเลือดเป็นกรด (Metabolic Acidosis) ไม่มีปัญหาของระบบการหายใจ ปริมาณปัสสาวะ 300 มิลลิลิตร/วัน ซึ่งตรงกับพยาธิสภาพของภาวะไตวายเฉียบพลัน คือ การเกิดการสูญเสียความสามารถของไตอย่างเฉียบพลัน ในการขจัดของเสีย เช่น ยูเรีย รวมทั้งการสูญเสียความสามารถในการควบคุมสารน้ำ และเกลือแร่ ผลที่ตามมาจากภาวะไตวายเฉียบพลันที่พบได้บ่อย เช่น ภาวะน้ำเกินในร่างกาย (Volume Overload ) ภาวะเลือดเป็นกรด (Metabolic Acidosis) ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง (Hyperkalemia) ระดับโซเดียมในเลือดสูงหรือต่ำ (Hypernatremia or Hyponatremia)  และการสะสมของเสียที่มีธาตุไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ (Nitrogenous Wastes) ในเลือด รวมถึงสูญเสียความสามารถในการขจัด Metformin ออกจากร่างกายซึ่งปกติขับออกทางไต ร้อยละ 90 การคั่งของ Metformin ทำให้เกิดการคั่งของ Lactate เกิดภาวะเลือดเป็นกรด (Lactic Acidosis) ในรายที่มีอาการรุนแรงหรือไม่ตอบสนองต่อ Support Care ภายใน 2 - 4 ชั่วโมง การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมถือเป็นการรักษาที่ได้ผลดี ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง
ลดอัตราการเสียชีวิต และช่วยให้ไตฟื้นคืนหน้าที่ได้ในที่สุด

            สรุป : ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยวิธีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เพื่อลดความเป็นกรดที่รุนแรงขจัดน้ำส่วนเกินและของเสียเพื่อรักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมมีปัญหาภาวะแทรกซ้อนระหว่างฟอกเลือดที่พบได้บ่อย คือ ความดันโลหิตต่ำ ร้อยละ 15 - 50 ซึ่งมีอันตรายมากอาจถึงขั้น Shock และหมดสติ หรืออาจเกิดกลุ่มอาการ Disequilibrium Syndrome ในการฟอกเลือดครั้งแรก หรือการแพ้สารในตัวกรองเลือด ดังนั้น พยาบาลไตเทียมมีบทบาทสำคัญในการให้การพยาบาลผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะวิกฤตให้ได้รับการฟอกเลือดตามแผนการรักษาของแพทย์ โดยการเตรียมความพร้อมของผู้ป่วย อุปกรณ์ และยาที่จำเป็น การพยาบาลมุ่งเน้นการคงไว้ของระบบไหลเวียนโลหิตเพื่อประคับประคองให้ฟอกเลือดได้ตามแผนการรักษา เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง พยาบาลควรเฝ้าระวัง สังเกต ติดตามประเมินอาการขณะฟอกไตอย่างใกล้ชิด  รวมถึงเตรียมความพร้อมเพื่อการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาฉุกเฉินได้ทันท่วงที อีกทั้งพยาบาลควรมีสมรรถนะในการประเมินอาการแทรกซ้อนเพื่อพิจารณายุติการฟอกเลือดเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย

 

คำสำคัญ : ภาวะไตวายเฉียบพลัน, Metformin, การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

 

เผยแพร่แล้ว

2024-06-24

ฉบับ

บท

Original Articles (นิพนธ์ต้นฉบับ)