การพัฒนาโปรแกรมเสริมสร้างพลังอำนาจผู้ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อพัฒนาโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจของผู้ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง
วิธีการศึกษา : การวิจัยเชิงปฏิบัติการ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 - 30 กันยายน 2566 กลุ่มตัวอย่าง ผู้ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง จำนวน 35 ราย เครื่องมือดำเนินงานวิจัย ได้แก่ โปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจของผู้ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ 1. แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป 2. แบบประเมินความเครียด (ST- 5) 3. แบบประเมินภาวะซึมเศร้า 4. แบบวัดภาระการดูแล ดำเนินการ 4 ระยะ ได้แก่ การวางแผน ปฏิบัติการ การสังเกต และการสะท้อนผล วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย เปรียบเทียบโดยใช้สถิติ paired t-test
ผลการศึกษา : โปรแกรมที่ได้ คือ ทีมสหวิชาชีพให้การเสริมสร้างความรู้ และทักษะแก่ผู้ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคองตั้งแต่ก่อนการจำหน่วยจนถึงการดูแลต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ผลพบว่า ก่อนการพัฒนาและหลังพัฒนาเป็นดังนี้ ผู้ดูแลมีความเครียดส่วนมากอยู่ในระดับมาก ร้อยละ 65.71 ลดลงเป็นระดับปานกลาง ร้อยละ 91.43 ซึมเศร้าส่วนมากระดับปานกลาง ร้อยละ 80.00 ลดลงเป็นระดับน้อย ร้อยละ 85.71 ความรู้สึกเรื่องการเป็นภาระส่วนมากบางครั้ง ร้อยละ 65 รองลงมาบ่อยครั้ง ร้อยละ 15 ลดลงเป็นบางครั้ง ร้อยละ 90 และไม่มีรู้สึกบ่อยครั้งเลย
บทสรุป : โปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจของผู้ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคองส่งผลให้ผู้ดูแลมีความมั่นใจ ลดความเครียด ลดภาวะซึมเศร้า
คำสำคัญ : การเสริมสร้างพลังอำนาจ, ผู้ดูแล, ผู้ป่วยระยะท้าย