รูปแบบระบบประกันสุขภาพของโรงพยาบาล สังกัดกระทรวงสาธารณสุขในเขตสุขภาพที่ 12

ผู้แต่ง

  • จุฑามาศ สินประจักษ์ผล

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

          การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษารูปแบบระบบประกันสุขภาพของโรงพยาบาล สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขในเขตสุขภาพที่ 12 ซึ่งครอบคลุมจังหวัดสงขลา ตรัง พัทลุง สตูล ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ประชากรเป็น
ผู้ปฏิบัติงานในศูนย์ประกันสุขภาพของโรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 12 จำนวน 78 แห่ง จำนวน 1,893 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา จำนวน 370 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.972 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์หาองค์ประกอบเป็นโปรแกรมสถิติสำเร็จรูป AMOS ผู้วิจัยกำหนดรูปแบบในการศึกษา 2 รูปแบบ คือ
รูปแบบโครงสร้างพื้นฐานของระบบประกันสุขภาพของโรงพยาบาล และรูปแบบระบบปฏิบัติงานของระบบประกันสุขภาพของโรงพยาบาล ผลของการศึกษาพบว่า รูปแบบโครงสร้างพื้นฐานของระบบประกันสุขภาพ ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ดังนี้
ด้านกลยุทธ์ในการดำเนินงานระบบประกันสุขภาพของโรงพยาบาล (Strategy) มีน้ำหนักองค์ประกอบเท่ากับ 1.28 รองลงมา เป็นด้านบุคลากรในระบบประกันสุขภาพของโรงพยาบาล (Staff) มีน้ำหนักองค์ประกอบเท่ากับ 1.11 ด้านระบบประกันสุขภาพในการเรียกเก็บทุกกองทุนของโรงพยาบาล (System) มีน้ำหนักองค์ประกอบเท่ากับ 1.07 ด้านโครงสร้างระบบประกันสุขภาพของโรงพยาบาล (Structure) มีน้ำหนักองค์ประกอบเท่ากับ 1.00 รูปแบบระบบปฏิบัติงานของระบบประกันสุขภาพ ประกอบด้วย 7 องค์ประกอบ โดยเรียงน้ำหนักองค์ประกอบจากมากไปหาน้อย ดังนี้ ด้านกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในระบบประกันสุขภาพ (Clean Data) มีน้ำหนักองค์ประกอบเท่ากับ 1.22 ด้านระบบติดตามลูกหนี้ในระบบประกันสุขภาพ (Debt) มีน้ำหนักองค์ประกอบเท่ากับ 1.18 ด้านระบบการรายงานลูกหนี้เพื่อการควบคุมกำกับ (Control Receivable Report) มีน้ำหนักองค์ประกอบเท่ากับ 1.17 ด้านระบบการจ่ายแต่ละกองทุนในระบบประกันสุขภาพ (Claim) มีน้ำหนักองค์ประกอบเท่ากับ 1.01 ด้านการบันทึกข้อมูลกิจกรรมการรักษาครบถ้วนในระบบประกันสุขภาพ (Care) และ ด้านระบบบัญชีลูกหนี้ในระบบประกันสุขภาพ (Account) มีน้ำหนักองค์ประกอบเท่ากันที่ 1.00 ด้านการบันทึกรหัสการรักษาพยาบาลครบถ้วนและถูกต้องในระบบประกันสุขภาพ (Code) มีน้ำหนักองค์ประกอบเท่ากับ 0.88 นอกจากนี้ พบว่า รูปแบบโครงสร้างพื้นฐานของระบบประกันสุขภาพของโรงพยาบาล (Structure, System, Staff และ Strategy) มีความสัมพันธ์กับรูปแบบระบบปฏิบัติงานของระบบประกันสุขภาพของโรงพยาบาล (Code, Care, Claim, Clean Data, Account, Control Receivable Report, Debt)
(β = 1.03) หมายความว่า หากรูปแบบโครงสร้างพื้นฐานของระบบประกันสุขภาพดีจะส่งผลทำให้รูปแบบระบบปฏิบัติงานของระบบประกันสุขภาพดีเพิ่มขึ้น 1.03 เท่า ดังนั้นควรมีการวางแผนพัฒนาระบบประกันสุขภาพให้มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพในทั้ง 2 รูปแบบ และพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับระบบประกันสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยจัดทำเป็นรูปแบบในระบบประกันสุขภาพของโรงพยาบาลและระบบงานอื่นๆที่เชื่อมโยงกับระบบประกันสุขภาพ เช่น ระบบบริการรักษาพยาบาล ระบบคลังสุขภาพ ระบบบริหารจัดการทรัพยากรทางการพยาบาลในระบบประกันสุขภาพ เป็นต้น

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2024-06-26

ฉบับ

บท

Original Articles (นิพนธ์ต้นฉบับ)