การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตแบบบูรณาการจังหวัดมหาสารคาม
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
ผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตมีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง อาจก่ออันตรายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น จึงมีความจำเป็นที่จะพัฒนารูปแบบร่วมกันของภาคีเครือข่ายในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้เหมาะสม การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัย
เชิงปฏิบัติการ เพื่อศึกษาสถานการณ์ของการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต นำมาพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วย
ยาเสพติดที่มีอาการทางจิต และศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต แบบบูรณาการจังหวัดมหาสารคาม ระยะเวลา ตุลาคม 2565 – มกราคม 2567 กลุ่มเป้าหมายและผู้ร่วมวิจัย ได้แก่ ผู้รับผิดชอบงานยาเสพติด
โรงพยาบาลชุมชน สาธารณสุขอำเภอ ปลัดอำเภอทุกแห่ง ตัวแทนแกนนำตำบลทุกแห่ง ตัวแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวม 185 คน เก็บข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ข้อมูลเชิงคุณภาพวิเคราะห์โดยการวิเคราะห์เนื้อหา ข้อมูลเชิงปริมาณวิเคราะห์
โดยใช้สถิติ จำนวน ร้อยละ ผลการศึกษา พบว่า ปี 2565 ปัญหาผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต เป็นปัญหาที่ภาคีเครือข่ายต้องร่วมกันป้องกันและแก้ไขซึ่งพบว่ายังขาดการเก็บข้อมูลและเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการคัดกรองและดูแลที่เหมาะสม การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตแบบบูรณาการ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานระดับจังหวัดและอำเภอทุกแห่ง วิเคราะห์สถานการณ์ปัญหา พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ จัดตั้งศูนย์คัดกรองยาเสพติดระดับตำบลทุกตำบล อบรมให้ความรู้การดูแลและส่งต่อผู้ป่วย แบ่งบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน คืนข้อมูลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อหาปัญหาและแนวทางการดำเนินงานแต่ละวงรอบ จนได้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต
แบบบูรณาการ ได้แก่ การดูแลก่อนถึงโรงพยาบาล การดูแลในโรงพยาบาล และการดูแลต่อเนื่องหลังจำหน่าย ร่วมกับการ
บูรณาการภาคีเครือข่าย 4 ฝ่าย ผลของการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต แบบบูรณาการ พบว่า สามารถคัดกรองผู้ป่วยได้เพิ่มมากขึ้น จากปี 2565 จำนวน 361 คน เป็น 1,190 คน ในปี 2566 มีการจัดเก็บข้อมูลร่วมกัน ผู้ป่วยได้รับการดูแล และติดตามเยี่ยมต่อเนื่องเพื่อไม่ก่อความรุนแรงซ้ำครบทุกราย การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต แบบบูรณาการ ได้ใช้การบูรณาการดำเนินงานร่วมกันของภาคีทุกภาคส่วน ทำให้ได้รูปแบบที่มีประสิทธิผลเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่
คำสำคัญ : ผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต, บูรณาการ