การวิจัยและพัฒนารูปแบบการให้บริการของศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จ จังหวัดมหาสารคามบนแพลตฟอร์มดิจิทัล
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
บทนำ : ศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จ เป็นงานบริการหนึ่งอันเป็นภารกิจของกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม ที่ให้บริการแก่ผู้มาติดต่อเกี่ยวกับการยื่นคำขอและรับใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ ยา อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร วัตถุอันตราย ยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ และสถานพยาบาลเอกชน รวมถึงการขอรับคำปรึกษา แนะนำ ชำระค่าธรรมเนียมต่างๆให้ได้รับความสะดวกรวดเร็ว มีขั้นตอนกระชับและสามารถติดต่อได้ ณ จุดเดียว การพัฒนางานศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จ ถือเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาระบบราชการ โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อตอบสนอง
ความต้องการของประชาชนให้ได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว มีขั้นตอนกระชับและเกิดความพึงพอใจสูงสุด
วัตถุประสงค์ : เพื่อสร้างระบบและพัฒนารูปแบบงานบริการอนุญาตผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพ
กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพบนแพลตฟอร์มดิจิทัล
วิธีวิจัย : การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง แบ่งได้ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ให้บริการ ได้แก่ เภสัชกรภารกิจงานควบคุมกำกับผลิตภัณฑ์สุขภาพก่อนสู่ตลาด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม จำนวน 5 คน และผู้รับผิดชอบงานคุ้มครองผู้บริโภค ในสำนักงานสาธารณสุขอำเภอจำนวน 12 คน ครอบคลุมทุกอำเภอ และกลุ่มผู้รับบริการ ขอบเขตการพัฒนางาน คือ กระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพในพื้นที่ให้บริการของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและเครือข่ายบริการสุขภาพคือสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 12 อำเภอ ทั้งระบบงานผ่านเคาน์เตอร์บริการและระบบงานผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล SKYNET ทำการศึกษาระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 - 2567 เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ การสัมภาษณ์ผู้ให้บริการ และแบบประเมินความพึงพอใจในรูปแบบออนไลน์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ
เชิงพรรณนา ความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย : ปี พ.ศ. 2565 – 2566 พบว่า จากปัญหาการพิจารณาอนุญาตมีความล่าช้าผู้รับบริการ ไม่สามารถตรวจสอบว่าเรื่องที่ยื่นไว้อยู่ระหว่างดำเนินการในขั้นตอนใด ระยะเวลารอคอยและค่าใช้จ่ายการเดินทางเข้ามาติดต่อกับศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม
จึงนำไปสู่การพัฒนางานบริการและเกิดระบบการให้บริการ ผลการพัฒนางาน ในปี 2567 ได้แก่ 1) ออกแบบทะเบียนเกี่ยวกับผู้มารับบริการรายวันให้เป็นปัจจุบันตามเวลาจริง 2) จัดทำคู่มือประชาชน ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม โดยเผยแพร่แก่ประชาชนทางช่องทางเว็บไซต์หลักของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม 3) ผลการประเมินความรู้ของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 12 อำเภอ มีความรู้มากขึ้น ร้อยละ 81.67
4) ผลประเมินความพึงพอใจของผู้รับบริการที่สำรวจช่องทางออนไลน์ อยู่ในระดับดีมาก 5) เกิดนวัตกรรมบริการแก่ประชาชน คือ การจัดตั้งศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จระดับอำเภอ ครอบคลุมทุกอำเภอจนได้รูปแบบการให้บริการระบบข้อมูลดิจิทัลศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ด เรียกว่า FDA-MSK OSSC District Smart Model ซึ่งเป็นต้นแบบการให้บริการของศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 7 และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดการพัฒนาคุณภาพบริการในจังหวัดต่างๆ ระดับภาคและประเทศต่อไป
คำสำคัญ: ศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จ, FDA-MSK OSSC District Smart Model