การพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะฟื้นฟูในชุมชน : กรณีศึกษา 2 ราย

ผู้แต่ง

  • วิไลรัตน์ วงษ์แก้ว

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

            วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาเปรียบเทียบการใช้กระบวนการพยาบาลในชุมชนแก่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง จำนวน
2 ราย

            วิธีการศึกษา : เป็นการศึกษาเปรียบเทียบกรณีศึกษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะฟื้นฟูจำนวน 2 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูล รวบรวมข้อมูลโดยใช้เครื่องมือตามแนวทางเวชปฏิบัติครอบครัว INHOMESSS และการเยี่ยมบ้าน วิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลความเจ็บป่วย การประเมินสภาพและข้อวินิจฉัยการพยาบาล กิจกรรมการพยาบาล และการประเมินผล

            ผลการศึกษา : ผู้ป่วยกรณีศึกษาทั้ง 2 ราย มีปัญหาที่คล้ายกัน คือ เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากพยาธิสภาพของโรค การสื่อสารและการรับประทานอาหารบกพร่องเนื่องจากสมองได้รับอันตราย และญาติมีความวิตกกังวลในการดูแล
ผู้ป่วย โดยกรณีศึกษารายที่ 1 มีปัญหาผู้ป่วยรู้สึกด้อยค่า เนื่องจากสูญเสียบทบาทหน้าที่ของตนเอง ต้องสนับสนุนให้ผู้ป่วยมีกําลังใจ ชมเชย ครอบครัวปฏิบัติต่อผู้ป่วยอย่างเห็นคุณค่าส่งเสริมการฟื้นฟูร่างกาย จนอาการดีขึ้นตามลำดับ แตกต่างจากกรณีศึกษารายที่ 2 ที่ผู้ป่วยมีกำลังใจดี แต่ต้องระวังการเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากแขนและขาข้างขวาอ่อนแรง ต้องส่งเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำ จะเห็นได้ว่า การพยาบาลผู้ป่วยทั้ง 2 รายนี้ มีปัญหาทางการพยาบาลรวมทั้งความยากของการปฏิบัติการพยาบาลที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยอายุ การดูแลของครอบครัวและความเข้มแข็งด้านจิตใจของผู้ป่วย

            สรุป : การศึกษาในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าพยาบาลเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งเสริมครอบครัวให้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูสภาพร่างกายของผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลครอบคลุมทั้งทางร่างกายและจิตใจ

 

คำสำคัญ กรณีศึกษา การพยาบาล ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2024-06-26

ฉบับ

บท

Original Articles (นิพนธ์ต้นฉบับ)