ประสิทธิผลของการพยาบาลห้ามเลือดหลังถอดท่อนำสายสวนหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบร่วมกับการใช้อุปกรณ์ช่วยกดห้ามเลือดในผู้ป่วยทำหัตถการตรวจสวนหัวใจ โรงพยาบาลตรัง : การศึกษานำร่อง
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
การศึกษามีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของการพยาบาลห้ามเลือดร่วมกับการใช้อุปกรณ์ช่วยกดห้ามเลือด หลังถอดท่อนำสายสวนหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่เข้ารับการทำหัตถการตรวจสวนหัวใจ เป็นการศึกษาแบบกึ่งทดลองแบบกลุ่มเดียว วัดผลหลังทดลอง และติดตามผลไปข้างหน้า ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2563 กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 27 ราย เครื่องมือวิจัย ได้แก่ 1) แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลและประวัติการเจ็บป่วย 2) แบบบันทึกประวัติการทำหัตถการตรวจสวนหัวใจ และ 3) แบบบันทึกผลลัพธ์การพยาบาลห้ามเลือดภายหลังถอดท่อนำสายสวน
หลอดเลือดแดงฯ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงบรรยาย ผลการศึกษา พบว่า ผลลัพธ์ความสำเร็จของการพยาบาลห้ามเลือด ภายหลังถอดท่อนำสายสวนหลอดเลือดแดง ในระยะเวลา 25 นาที มีจำนวน 16 ราย (ร้อยละ 59.3) และผลลัพธ์ความชุกของการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือดใน 24 ชั่วโมงแรก พบว่า ไม่มีภาวะแทรกซ้อนฯ จำนวน 15 ราย (ร้อยละ 55.4) มีภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือด จำนวน 12 ราย (ร้อยละ 44.6) สรุป การพยาบาลกดห้ามเลือดร่วมกับการใช้อุปกรณ์ช่วยกดห้ามเลือดหลังถอดท่อนำสายสวนหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบ มีแนวโน้วกดหยุดเลือดได้ตามเวลามาตรฐาน ไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง และสามารถคาดการณ์และติดตามภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นได้
คำสำคัญ : การกดห้ามเลือด, อุปกรณ์ช่วยกดห้ามเลือด, การตรวจสวนหัวใจ, ท่อนำสายสวนหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบ