ผลการดำเนินงานบริบาลเภสัชกรรมในผู้ป่วยวัณโรคโรงพยาบาลกุดรัง จังหวัดมหาสารคาม

ผู้แต่ง

  • นิพพานี อุดมสุข

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

            วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาผลการดำเนินงานบริบาลเภสัชกรรมในผู้ป่วยวัณโรคโรงพยาบาลกุดรัง จังหวัดมหาสารคาม

            วิธีการศึกษา : เป็นการศึกษาวิจัยเชิงเปรียบเทียบ (Comparative study) แบบ before and after intervention study ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มก่อนได้รับการบริบาลทางเภสัชกรรม โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากเวชระเบียนย้อนหลัง ระหว่างเดือนตุลาคม 2565 – กันยายน 2566 จำนวน 84 ราย และกลุ่มหลังได้รับการบริบาลทางเภสัชกรรม ซึ่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการให้บริบาลทางเภสัชกรรมระหว่างเดือนตุลาคม 2566 - เมษายน 2567 จำนวน 48 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบบันทึกข้อมูลพื้นฐาน แบบบันทึกการติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากยา แบบบันทึกการติดตามปัญหาจากการใช้ยา และแบบบันทึกการจัดกิจกรรมบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยวัณโรค

            ผลการศึกษา : กลุ่มหลังได้รับการบริบาลเภสัชกรรมรักษาหายจากวัณโรค 48 ราย (ร้อยละ 100) มากกว่ากลุ่มก่อนได้รับการบริบาลเภสัชกรรม 82 ราย (ร้อยละ 97.62) ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.223) ความร่วมมือในการใช้ยามากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 95 ในกลุ่มหลังได้รับการบริบาลทางเภสัชกรรม 48 ราย(ร้อยละ 100) มากกว่ากลุ่มก่อนได้รับการบริบาลทางเภสัชกรรม 62 ราย (ร้อยละ 73.81) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ปัญหาการใช้ยาในกลุ่มก่อนได้รับบริบาลทางเภสัชกรรมพบอาการไม่พึงประสงค์จากยามากที่สุด 64 ราย
(ร้อยละ 76.19) มากกว่ากลุ่มหลังได้รับการบริบาลทางเภสัชกรรม 12 ราย (ร้อยละ 25.00) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) และด้านการจัดกิจกรรมบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยวัณโรค มีการให้ความรู้ด้านยาวัณโรคแก่ผู้ป่วยวัณโรคมากที่สุดร้อยละ 40.32  ซึ่งปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยเภสัชกรทั้งหมด

            บทสรุป : การศึกษานี้ พบว่าผลการดำเนินงานบริบาลเภสัชกรรมในผู้ป่วยวัณโรคโรงพยาบาลกุดรัง จังหวัดมหาสารคาม ส่งผลให้เกิดผลลัพธ์การรักษาที่ดีขึ้น ติดตามเฝ้าระวังปัญหาจากการใช้ยา อาการไม่พึงประสงค์จากยา และเป็นแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคร่วมกับทีมสหวิชาชีพในเครือข่ายสุขภาพอำเภอกุดรังอีกด้วย

 

คำสำคัญการบริบาลทางเภสัชกรรม, ผู้ป่วยวัณโรค, ปัญหาจากการใช้ยา, อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา

เผยแพร่แล้ว

2024-10-28

ฉบับ

บท

Original Articles (นิพนธ์ต้นฉบับ)