ประสิทธิผลของแผนยุทธศาสตร์ระบบสุขภาพจังหวัดมหาสารคาม ปี 2566

ผู้แต่ง

  • รัชนีวิภา จิตรากุล

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

            แผนยุทธศาสตร์เป็นเครื่องมือกำหนดแนวทางการบริหารให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม เพื่อให้เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพสูงสุด การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิผล ผลลัพธ์ ปัญหาการดำเนินงานของแผนยุทธศาสตร์ระบบสุขภาพจังหวัดมหาสารคาม ปี 2566 และแนวทางพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิผลของแผนยุทธศาสตร์ระบบสุขภาพจังหวัดในปี 2567 เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Methods Research) ประชากร คือ (1) ผลการดำเนินงานของปี 2566 ตามตัวชี้วัดใน 6 ประเด็นยุทธศาสตร์ของเครือข่ายบริการสุขภาพระดับอำเภอทุกแห่ง (2) ผู้ประสานแผนงานในกลุ่มงานของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและเครือข่ายบริการสุขภาพระดับอำเภอ จำนวน 13 แห่ง กลุ่มตัวอย่างกำหนดโดยการ
สุ่มแบบเจาะจงตามเกณฑ์ เก็บข้อมูลเชิงคุณภาพกับผู้ให้ข้อมูลหลัก เครื่องมือเป็นแบบตรวจสอบผลงานและแบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติเชิงพรรณนาและเชิงอนุมาน งานวิจัยพบว่า ภาพรวมทั้ง 6 ยุทธศาสตร์มีค่าเฉลี่ยคะแนนผลการประเมิน 4.02 (ระดับดีมาก) ยุทธศาสตร์ที่มีผลการประเมินสูงสุด คือ ยุทธศาสตร์ที่ 5 บุคลากรเป็นเลิศ มีค่าเฉลี่ยคะแนนผลการประเมิน 4.98 (ระดับดีมาก) รองลงมา คือ ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคและคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเลิศ มีค่าเฉลี่ยคะแนนผลการประเมิน 4.13 (ระดับดีมาก) ยุทธศาสตร์ที่ 6 บริหารเป็นเลิศด้วยธรรมาภิบาล มีค่าเฉลี่ยคะแนนผลการประเมิน 3.99 (ระดับดี) ยุทธศาสตร์ที่ 4 บริการเป็นเลิศ มีค่าเฉลี่ยคะแนนผลการประเมิน 3.84 (ระดับดี) ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาขีดความสามารถในการจัดการสุขภาพตนเองแก่ประชาชน ชุมชน อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน มีค่าเฉลี่ยคะแนนผลการประเมิน 3.17 (ระดับดี) อำเภอที่มีค่าเฉลี่ยคะแนนการประเมินสูงสุด
3 อันดับแรก คือ (1) บรบือ (2) กุดรัง (3) แกดำ เชียงยืน นาเชือก มีค่าเฉลี่ยคะแนนผลการประเมิน 4.20, 4.16 และ 4.14 ซึ่งอยู่ในระดับดีมาก

          การเปรียบเทียบเป้าหมายผลลัพธ์สุขภาพด้วยค่า LE/HALE ระดับจังหวัดและระดับอำเภอ ปี 2566 ที่กำหนดไว้ตามประกาศเป้าหมายของจังหวัดมหาสารคาม กับผลค่า LE/HALE ปี 2566 พบว่า ภาพรวมจังหวัดค่า LE มีค่าเท่ากับ 74.90 ปี ซึ่งไม่บรรลุเป้าหมายที่กำหนด โดยผลงานต่ำกว่าเป้าหมาย 0.10 ปี ส่วนค่า HALE มีค่าเท่ากับ 67.87 ปี ซึ่งบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด โดยผลงานมากกว่าเป้าหมาย 0.37 ปี ภาพรวมรายอำเภอ พบว่า ค่า LE บรรลุตามเป้าหมาย จำนวน 5 อำเภอ คือ นาดูน บรบือ แกดำ พยัคฆภูมิพิสัย และกันทรวิชัย ส่วนที่เหลือ 7 อำเภอไม่บรรลุเป้าหมาย อำเภอที่บรรลุเป้าหมายสูงสุด คือ กันทรวิชัย โดยผลงานมากกว่าเป้าหมาย 1.61 ปี สำหรับอำเภอที่ไม่บรรลุเป้าหมายมากที่สุด คือ นาเชือก ผลงานต่ำกว่า
เป้าหมาย 2.07 ปี สำหรับภาพรวมค่า HALE รายอำเภอ พบว่า มี 5 อำเภอที่บรรลุค่าเป้าหมาย คือ นาดูน บรบือ แกดำ พยัคฆภูมิพิสัย และกันทรวิชัย ส่วนที่เหลือ 7 อำเภอไม่บรรลุ
เป้าหมาย โดยอำเภอกันทรวิชัยสามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุดซึ่งผลงานมากกว่าเป้าหมาย 1.11 ปี สำหรับอำเภอที่ไม่บรรลุเป้าหมายมากที่สุด คือ อำเภอชื่นชม ซึ่งผลงานต่ำกว่าเป้าหมาย 1.96 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างประสิทธิผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ระบบสุขภาพจังหวัดมหาสารคาม ปี 2566 กับผลลัพธ์การดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ระบบสุขภาพจังหวัดมหาสารคาม ปี 2566 พบว่า ค่าเฉลี่ยคะแนนการประเมินผลตัวชี้วัดรวมทุกยุทธศาสตร์ไม่มีความสัมพันธ์กับค่า LE และ HALE ของประชาชนรายอำเภอในจังหวัดมหาสารคาม  (r = 0.052, p-value = .866 และ r = 0.066, p-value = .831) ตามลำดับ

            การวิจัยนี้ค้นพบปัญหาการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ระบบสุขภาพจังหวัดมหาสารคาม ปี 2566 จำนวน 6 ปัญหาสำคัญ คือ (1) กรอบเวลาในการจัดทำแผนปฏิบัติการหน่วยงานระดับจังหวัดและระดับอำเภอต้องเสร็จเรียบร้อยภายในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณนั้นๆ (2) กรอบเวลาการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และตัวชี้วัดล่าช้า โดยต้องเสร็จเรียบร้อยก่อนเริ่มปีงบประมาณนั้นๆ (3) กรอบเวลาในการดำเนินงานตามโครงการมีระยะเวลาสั้น จำนวน 4 - 6 เดือน (4) กรอบเวลาการประเมินผลการปฏิบัติราชการประจำปี ยังไม่ครบ 12 เดือน ซึ่งใช้ผลงานสะสมจำนวน 11 เดือนเท่านั้น (5) ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานที่เป็นการวัดผลลัพธ์การดำเนินงานในบางตัวยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ในรอบปีเดียว (6) ตัวชี้วัดที่เป็นการวัดกระบวนการดำเนินงานต้องลดจำนวนให้น้อยลง เพราะไม่สามารถสะท้อนผลลัพธ์สุขภาพได้อย่างชัดเจน และค้นพบแนวทางพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิผลของแผนยุทธศาสตร์ระบบสุขภาพจังหวัดในปี 2567 จำนวน 7 แนวทางสำคัญ คือ (1) การแสดงผลตัวชี้วัดเป็นรายไตรมาสและรายเดือน (2) การเสนอความก้าวหน้าต่อทีมผู้บริหารระดับจังหวัดและระดับอำเภอเดือนละ 1 ครั้ง (3) การประกาศเป็นนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดในเป้าหมายและตัวชี้วัดที่มีผลกระทบต่อผลลัทธ์ด้านสุขภาพของประชาชน (4) การทบทวนถอดบทเรียนกรณีผลการดำเนินงานตัวชี้วัดที่ไม่บรรลุตามเป้าหมายไตรมาสละ 1 ครั้ง (5) การสร้างขวัญกำลังใจผลการดำเนินงานในระดับแผนงานให้กับผู้ปฏิบัติงานระดับจังหวัดและระดับ CUP (6) การติดตามความคืบหน้าต่อผู้ปฏิบัติงานในระดับเครือข่ายบริการสุขภาพระดับอำเภอเดือนละ 1 ครั้ง (7) การประสานความร่วมมือบริการสาธารณสุขในระดับปฐมภูมินอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กับระดับทุติยภูมิอย่างเข้มข้นและต้องมีประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น

 

คำสำคัญ : ประสิทธิผล, ผลลัพธ์, แผนยุทธศาสตร์, ระบบสุขภาพจังหวัด

 

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2024-10-28

ฉบับ

บท

Original Articles (นิพนธ์ต้นฉบับ)