การพัฒนารูปแบบการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะที่ได้รับการผ่าตัดสมอง โดยทีมสหสาขาวิชาชีพ หอผู้ป่วยหนักศัลยกรรมประสาท โรงพยาบาลหนองคาย
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนารูปแบบการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะที่ได้รับการผ่าตัดสมอง และศึกษาผลการพัฒนารูปแบบการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยบาดเจ็บศีรษะต่อความรู้ ความสามารถและความพึงพอใจของผู้ดูแลในหอผู้ป่วยหนักศัลยกรรมประสาท โรงพยาบาลหนองคาย ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ การวิเคราะห์สภาพเดิม ค้นหาปัญหาการพัฒนารูปแบบการวางแผนจำหน่าย การทดลองปฏิบัติตามรูปแบบการวางแผน การประเมินผลลัพธ์และปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น โดยการศึกษาเวชระเบียนย้อนหลัง 30 ราย แล้วนำรูปแบบการวางแผนจำหน่ายที่พัฒนาข้นมาทดลองปฏิบัติกับกลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศรีษะที่ได้รับการผ่าตัดสมองและผู้ดูแล 2 ครั้ง จำนวน 15 ราย และ 15 ราย ตามลำดับ
ผลการศึกษา การนำรูปแบบการวางแผนการจำหน่ายที่พัฒนาขึ้นโดยทีมสหสาขาวิชาชีพไปใช้กับผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะที่ได้รับการผ่าตัดสมอง ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมการปฏิบัติการดูแลรักษาและฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยในแต่ละวัน การปฏิบัติการพยาบาลทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ความรู้เรื่องยา การฟื้นฟูสภาพ การให้อาหาร การดูแลต่อเนื่องที่บ้าน ใช้เวลาในการเตรียมการจำหน่ายผู้ป่วย 14 วัน พบว่า ผู้ป่วยมีวันนอนรักษาในโรงพยาบาลเฉลี่ย 15.56 วัน ค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยรายละ 157,245 บาท ผู้ดูแลมีค่าคะแนนความรู้เกี่ยวกับการบาดเจ็บที่ศีรษะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 มีค่าเฉลี่ยคะแนนความสามารถในการดูแลผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะสูงขึ้นกว่าก่อนการใช้รูปแบบการวางแผนจำหน่ายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ผู้ดูแลมีความพึงพอใจในบริการในระดับสูงมาก ทีมสหสาขาวิชาชีพมีความภูมิใจและพึงพอใจมาก
คำสำคัญ : การวางแผนจำหน่าย ผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะที่ได้รับการผ่าตัดสมอง ทีมสหสาขาวิชาชีพ