สภาวะสุขภาพและความคาดหวังต่อนโยบายการดูแลผู้สูงอายุของผู้สูงอายุจังหวัดสงขลา

ผู้แต่ง

  • Warat Siricha

บทคัดย่อ

                                                                                                               บทคัดย่อ

           การประเมินเรื่อง สภาวะสุขภาพและความคาดหวังต่อนโยบายการดูแลผู้สูงอายุของผู้สูงอายุจังหวัดสงขลา มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินสภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุ เปรียบเทียบความคาดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงต่อนโยบายการดูแลผู้สูงอายุของผู้สูงอายุ และ ตัดสินคุณค่าของนโยบายการดูแลผู้สูงอายุโดยพิจารณาความสอดคล้องระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับเกณฑ์ กลุ่มตัวอย่างเป็น ผู้สูงอายุในจังหวัดสงขลา จำนวน 439 คน ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอน (multi-stage random sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้เป็นแบบสอบถามที่ผู้ประเมินสร้างขึ้น วิเคราะห์ข้อมูล โดยการแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่า t-test และค่า F-test กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ .05

           ผลการประเมิน พบว่า สภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุในจังหวัดสงขลา ด้านพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุมีพฤติกรรมอยู่ในระดับ ปานกลาง จำนวน 276 คน (ร้อยละ 62.8) โดยมีการปฏิบัติเป็นประจำมากที่สุด คือ การสวดมนต์  ไหว้พระ นั่งสมาธิ หรือละหมาด การรับประทานผักหลากหลายชนิด การออกกำลังกาย อย่างน้อย สัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ ละ 20-30 นาที ผู้สูงอายุไม่รู้สึกเหงา และว้าเหว่ ไม่มีความกังวลในเรื่องการเงิน รายได้ที่ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ในส่วนของสภาวะสุขภาพจิตของผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีสุขภาพจิตเท่ากับคนทั่วไป จำนวน 213 คน (ร้อยละ 48.0) และสุขภาพจิตดีกว่าคนทั่วไป จำนวน 182 คน (ร้อยละ 41.5) เมื่อทดสอบสุขภาพจิตระหว่าง กลุ่มอายุ พบว่า สุขภาพจิตของผู้สูงอายุแต่ละกลุ่มอายุ
ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในด้านการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น พบว่า ส่วนใหญ่จะมีการพบปะ พูดคุยกับครอบครัวมากกว่า เพื่อนบ้านและหมู่เครือญาติ สำหรับความคาดหวังต่อนโยบายการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ พบว่า ความคาดหวัง และสิ่งที่เกิดขึ้นจริงต่อนโยบายการดูแลผู้สูงอายุโดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก  เมื่อเปรียบเทียบความคาดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงต่อนโยบายการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ พบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.001) โดยมีความคาดหวังสูงกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และจากการตัดสินคุณค่าของนโยบายการดูแลผู้สูงอายุระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับเกณฑ์ พบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.001) ในประเด็น การอำนวยความสะดวกของสถานบริการแก่ผู้สูงอายุ การให้คำปรึกษาแนะนำเรื่องสุขภาพ และสวัสดิการ การรักษาพยาบาลตามสิทธิ์ของผู้สูงอายุ โดยสิ่งที่เกิดขึ้นจริงมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์

คำสำคัญ : สภาวะสุขภาพ, ความคาดหวัง,นโยบายการดูแลผู้สูงอายุ, ผู้สูงอายุ

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2020-11-10

ฉบับ

บท

Original Articles (นิพนธ์ต้นฉบับ)