ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร

ผู้แต่ง

  • Suraphon Siripiyanon

บทคัดย่อ

                                                                                                                บทคัดย่อ

           การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกของ อสม. อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร และศึกษาปัญหา อุปสรรคและแนวทางการพัฒนาพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกของ อสม. อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ อสม. อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร สำหรับตอบแบบสอบถาม จำนวน 270 คน ภาคีเครือข่ายสำหรับการสนทนากลุ่ม จำนวน 14 คน เครื่องมือที่ใช้การวิจัยเป็นแบบสอบถามและแบบสนทนากลุ่ม และได้มีการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหา ความยากง่ายและค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถาม วิเคราะห์หาปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ด้วยสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ t-test และ One -way ANOVA และ Multiple Regression ในการพยากรณ์ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก และการบรรยายสรุปความ

           ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่าง เป็นเพศหญิง ร้อยละ 68.89 เป็นเพศชาย ร้อยละ 31.11 มีอายุเฉลี่ย 49.61 จบการศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ 50.37 อาชีพเกษตรกรรม  ร้อยละ 70.37  สถานภาพสมรสคู่ ร้อยละ 81.11 มีรายได้เฉลี่ยทั้งครอบครัว 11,658.52 บาทต่อเดือน มีจำนวนสมาชิก ในครอบครัวเฉลี่ย 4.28 ส่วนใหญ่มีจำนวน 2-5 คน ร้อยละ 80.74 เป็นหัวหน้าครอบครัว ร้อยละ 48.89 ระยะเวลาในการปฏิบัติงานเป็น อสม. เฉลี่ย 11.69 ปี ระยะเวลาที่ทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกเฉลี่ย 10.60 ปี มีครัวเรือน/หลังคาในความรับผิดชอบเฉลี่ย 8.84 ครัวเรือน/หลังคาเรือน ส่วนใหญ่มีบทบาทหรือระดับการเป็น อสม. ระดับหมู่บ้าน ร้อยละ 88.89 มีตำแหน่งหรือบทบาททางสังคมอื่นๆ ได้แก่ กรรมการหมู่บ้านมากที่สุด ร้อยละ 54.44  อสม. และสมาชิกในครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ร้อยละ 11.48 ส่วนใหญ่เข้ารับการอบรมหรือประชุมเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกทุกครั้ง (12ครั้งต่อปี) ร้อยละ 49.63 และได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก ผ่านทางสื่อบุคคล ได้แก่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข         เพื่อน อสม. หรือคนในครอบครัว/ชุมชน มากที่สุด ร้อยละ 71.11             

             ข้อมูลทางด้านปัจจัยนำ ปัจจัยเอื้อ ปัจจัยเสริม ได้แก่ ความรู้ ทัศนคติ ความพอเพียงของทรัพยากร การมีทักษะในการใช้ทรัพยากร การได้รับการสนับสนุนและการได้รับแรงจูงใจ อยู่ในระดับ ปานกลาง มากที่สุด สำหรับพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกของ อสม. อยู่ในระดับ ปานกลาง ร้อยละ 70.37 ระดับน้อย ร้อยละ 17.04 และระดับมาก ร้อยละ 12.59  

           เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกของ อสม. ด้วยสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ t-test และ One-way ANOVA พบว่า ปัจจัยเสริม ได้แก่  การได้รับการสนับสนุน และการได้รับแรงจูงใจ มีผลต่อพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกของ อสม. อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยนำและปัจจัยเอื้อไม่มีผลต่อพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกของอสม. และเมื่อนำมาวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณเพื่อหาปัจจัยร่วมกันที่มีผลต่อพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกของ อสม. โดยใช้ Multiple Regression ในการพยากรณ์ พบว่าปัจจัยเสริม ทั้ง 2 ปัจจัย ได้แก่ การได้รับแรงจูงใจและการได้รับการสนับสนุน มีผลต่อพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกของ อสม. ตามลำดับ (R=0.594)

           ข้อเสนอแนะ ควรกำหนดนโยบายการสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกของ อสม. เป็นนโยบายเน้นหนักในอำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร ทั้งในระดับอำเภอ และตำบล เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง

คำสำคัญ : พฤติกรรมการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ปัจจัยนำ ปัจจัยเอื้อ ปัจจัยเสริม

         

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2020-11-10

ฉบับ

บท

Original Articles (นิพนธ์ต้นฉบับ)