การศึกษาอุบัติการณ์ของการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ทางวิสัญญี ในผู้ป่วยที่มาเข้ารับการผ่าตัดและระงับความรู้สึกที่โรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร

ผู้แต่ง

  • Wiwantanee Kusuwan

บทคัดย่อ

                                                                                                                บทคัดย่อ

           บทนำ: การระงับความรู้สึกแบบทั่วร่าง แบบบริหารยาระงับความรู้สึกทางหลอดเลือดดำ และแบบเฉพาะส่วนโดยการฉีดยาชาเข้าทางช่องไขสันหลังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ทางวิสัญญีเสมอ เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ทางวิสัญญีสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง หรือหลังการระงับความรู้สึก โดยเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ทางวิสัญญีมีทั้งแบบที่หลีกเลี่ยงได้และหลีกเลี่ยงไม่ได้ การป้องกันและการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมทันท่วงทีจะสามารถลดความรุนแรงของการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ทางวิสัญญีได้

           วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาอุบัติการณ์ของการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ทางวิสัญญีในผู้ป่วยที่มาผ่าตัดและระงับความรู้สึกที่โรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร

           วิธีการศึกษา: ทำการศึกษาเชิงพรรณนาแบบย้อนหลัง โดยเก็บข้อมูลของผู้ป่วยที่มาเข้ารับการระงับความรู้สึกแบบทั่วร่าง แบบบริหารยาระงับความรู้สึกทางหลอดเลือดดำ และแบบเฉพาะส่วนโดยการฉีดยาชาเข้าทางช่องไขสันหลังที่โรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร โดยเก็บข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วย ข้อมูลที่เกี่ยวกับการผ่าตัด ข้อมูลที่เกี่ยวกับการระงับความรู้สึกและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึง 31 มีนาคม 2563 รวมระยะเวลา 6 เดือน

           ผลการศึกษา: มีผู้ป่วยที่มาเข้ารับการผ่าตัดและระงับความรู้สึก 2,217 ราย จัดอยู่ใน American Society of Anesthesiologists Physical Status 1, 2, 3, 4, 5 ร้อยละ 16.01, 46.14, 32.61, 4.65, 0.59 ตามลำดับ มาผ่าตัดแบบนัดมาผ่าตัดในแผนกศัลยกรรมมากที่สุด มีการเลื่อนการผ่าตัด ร้อยละ 2.44 เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการระงับความรู้สึกแบบทั่วร่างและแบบบริหารยาระงับความรู้สึกทางหลอดเลือดดำที่พบ คือ ความดันโลหิตต่ำ, ช่วยหายใจด้วยหน้ากากช่วยหายใจลำบาก, ความดันโลหิตสูง ร้อยละ 12.31, 3.09, 1.74 ตามลำดับ

            สรุปผลการศึกษา : เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการระงับความรู้สึกเฉพาะส่วนโดยการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลังที่พบ คือ ความดันโลหิตต่ำ, ปัสสาวะไม่ออก, ภาวะการชาไม่สมบูรณ์ ร้อยละ 7.86, 2.45, 1.96 ตามลำดับ เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ทางวิสัญญีอื่นๆ ที่พบ คือ ปวดแผลหลังผ่าตัดระดับรุนแรง, คลื่นไส้อาเจียนหลังผ่าตัด, หนาวสั่น ร้อยละ 5.92, 2.88, 2.64 ตามลำดับ

คำสำคัญ : เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ทางวิสัญญี, ภาวะแทรกซ้อนทางวิสัญญี

 

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2020-11-10

ฉบับ

บท

Original Articles (นิพนธ์ต้นฉบับ)