การพยาบาลผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม : กรณีศึกษา 2 ราย

ผู้แต่ง

  • Pawadee Nanakorn

บทคัดย่อ

                                                                                                                บทคัดย่อ

           ความเป็นมา: โรคข้อเข่าเสื่อมพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ อาการปวดและข้อเข่าฝืดรบกวนการใช้ชีวิตในกิจวัตรประจำวัน มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมระยะรุนแรง พยาบาลมีบทบาทสำคัญในการประเมินสภาวะสุขภาพของผู้ป่วยและให้การพยาบาลแบบองค์รวม เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน ส่งเสริมให้สามารถปฏิบัติกิจกรรมได้ตามปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

           วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาการพยาบาลผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม            

           วิธีการศึกษา:  ศึกษาเปรียบเทียบผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
2 ราย ที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลตะกั่วป่า เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้การสัมภาษณ์ สังเกต และข้อมูลจากเวชระเบียนผู้ป่วย แล้วนำมาวิเคราะห์ประเมินผู้ป่วยตามแบบแผนสุขภาพของกอร์ดอน กำหนดข้อวินิจฉัยการพยาบาลผู้ป่วยตามแนวทางของสมาคมวินิจฉัยการพยาบาลแห่งอเมริกา ระบุกิจกรรมการพยาบาลและประเมินผล ตามกระบวนการพยาบาล

           ผลการศึกษา: พบว่าผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม 2 ราย มีปัญหาการพยาบาลก่อนผ่าตัดที่เหมือนกัน คือ ความปวดและความสามารถในการเคลื่อนไหวจากโรคข้อเข่าเสื่อม จำเป็นต้องได้รับผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ระยะหลังผ่าตัด ผู้ป่วยทั้งสองรายมีปัญหาและภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงแตกต่างกัน โดยผู้ป่วยรายที่ 1 มีภาวะซีดจากการสูญเสียเลือดภายใน 3 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัด หลังจาก 24 ชั่วโมงแรกผู้ป่วยรายที่ 2 มีภาวะโพแทสเซียมต่ำ และมีความวิตกกังวลสูง หลังจาก72 ชั่วโมงยังคงมีความวิตกกังวลและปวดแผลผ่าตัดมากบางครั้ง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูสภาพ และหลังผ่าตัด
8 วัน พบว่าแผลผ่าตัดติดเชื้อ

           บทสรุป: การพยาบาลผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม จำเป็นต้องมีสมรรถนะในการปฏิบัติการพยาบาลตั้งแต่ระยะก่อนผ่าตัด  ได้แก่ การเตรียมความพร้อมด้านร่างกายและจิตใจ การให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวก่อนและหลังผ่าตัด  ระยะหลังผ่าตัด ได้แก่ การจัดการความปวด การเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน  ตลอดจนการฟื้นฟูสภาพโดยการส่งเสริมการบริหารกล้ามเนื้อขาและข้อเข่า เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆและฟื้นสภาพหลังผ่าตัดได้ดี สามารถกลับไปดำรงชีวิตได้ตามปกติมากที่สุด

 

คำสำคัญ : การพยาบาล, โรคข้อเข่าเสื่อม, การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2020-11-10

ฉบับ

บท

Original Articles (นิพนธ์ต้นฉบับ)