การพยาบาลผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์นอกมดลูกที่มีภาวะช็อกและตัดท่อนำไข่ : กรณีศึกษา 2 ราย

ผู้แต่ง

  • Suwaree Laisakul

บทคัดย่อ

                                                                                                                บทคัดย่อ

           ความเป็นมา : การตั้งครรภ์นอกมดลูกเป็นภาวะอันตรายและฉุกเฉินทางนรีเวช  มักพบปัญหาตกเลือดภายในช่องท้องที่ควบคุมไม่ได้ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะช็อกได้ ดังนั้นพยาบาลจึงมีบทบาทสำคัญในการประเมินอาการ การเฝ้าระวังอาการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขภาวะช็อกได้อย่างรวดเร็วและให้การพยาบาลก่อนและหลังผ่าตัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

           วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาการพยาบาลผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์นอกมดลูกที่มีภาวะช็อกและตัดท่อนำไข่ 

           วิธีการศึกษา : เป็นการศึกษาเปรียบเทียบผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์นอกมดลูกที่มีภาวะช็อกและตัดท่อนำไข่ ที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลตะกั่วป่าตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ.2561 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ.2562 จำนวน 2 ราย โดยศึกษาประวัติ ประเมินปัจจัยเสี่ยงในการตั้งครรภ์นอกมดลูก การรักษาพยาบาล การวินิจฉัยพยาบาล โดยได้นำกรอบแนวคิดเกี่ยวกับแบบแผนสุขภาพทั้ง 11 แบบแผนของกอร์ดอน (Gordon) มาเป็นแนวทางในการประเมินภาวะสุขภาพของผู้ป่วยทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและจิตวิญญาณ และพบปัญหาทางการพยาบาลที่สำคัญในช่วงระยะเวลาที่ศึกษา แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะก่อนผ่าตัด ระยะหลังผ่าตัดและการวางแผนจำหน่าย

           ผลการศึกษา :  พบว่าหญิงตั้งครรภ์นอกมดลูกทั้ง 2 ราย มีอาการและอาการแสดงกรณีศึกษาทั้ง 2 ราย มีความใกล้เคียงกันด้านอาการและอาการแสดงที่ชัดเจน 2 อาการ คือ อาการปวดท้องน้อยเฉียบพลันและมีเลือดออกทางช่องคลอดและมีภาวะช็อก  โดยกรณีศึกษารายที่ 1 เป็นหญิงตั้งครรภ์ชาวไทย พบภาวะช็อกหลังรับไว้ดูแล 29 ชั่วโมง แตกต่างจากกรณีศึกษารายที่ 2 เป็นหญิงตั้งครรภ์ชาวพม่า ที่มีภาวะช็อกตั้งแต่มาถึงโรงพยาบาล  ซึ่งหญิงตั้งครรภ์ทั้งสองรายมีปัญหาและรุนแรงแตกต่างกันทั้งในระยะก่อนผ่าตัดและระหว่างผ่าตัด โดยพบว่ารายที่ 1 ท่อนำไข่ด้านขวาแตก ส่วนท่อนำไข่ด้านซ้ายบวมมีเลือดคั่ง และมีพังผืดบริเวณท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้าง เลาะพังผืดและตัดท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้าง และมีภาวะซีด ส่วนรายที่ 2
มีปัญหาท่อนำไข่ด้านซ้ายแตก ส่วนในระยะหลังผ่าตัดและการวางแผนจำหน่าย พบว่ารายที่ 1 ผู้ป่วยโศกเศร้าเนื่องจากสูญเสียการตั้งครรภ์และตัดท่อนำไข่ทั้งสองข้างทำให้ไม่สามารถมีบุตรได้อีกต่อไป ส่วนรายที่ 2 ผู้ป่วยขาดความรู้ความเข้าใจในการวางแผนครอบครัว สำหรับหญิงตั้งครรภ์รายที่ 2 ซึ่งเป็นหญิงชาวพม่านั้น พบปัญหาและอุปสรรคในการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมระหว่างพยาบาลและหญิงตั้งครรภ์

           บทสรุป : การพยาบาลผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์นอกมดลูกที่มีภาวะช็อกและตัดท่อนำไข่ พยาบาลจำเป็นต้องมีสมรรถนะในการประเมินสภาพผู้ป่วย เฝ้าระวังการเกิดภาวะวิกฤติในผู้ป่วยตั้งครรภ์นอกมดลูก สามารถให้การพยาบาลเบื้องต้นและเตรียมความพร้อมด้านร่างกายและจิตใจตั้งแต่ระยะก่อนผ่าตัด จนผู้ป่วยพ้นระยะวิกฤติ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนระยะหลังผ่าตัด       นอกจากนี้ในการให้บริการผู้รับบริการที่เป็นชาวต่างชาติ พยาบาลจำเป็นต้องมีสมรรถนะในการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมพร้อมด้วยเพื่อให้การพยาบาลที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกมิติ

 

คำสำคัญ : ตั้งครรภ์นอกมดลูก, ช็อก, ตัดท่อนำไข่

เผยแพร่แล้ว

2020-11-10

ฉบับ

บท

Original Articles (นิพนธ์ต้นฉบับ)