ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการพยายามฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการพยายามฆ่าตัวตายของผู้พยายามฆ่าตัวตายที่เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี
วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาย้อนหลังเชิงพรรณนา โดยเก็บข้อมูลจากแบบเฝ้าระวังการทำร้ายตนเอง (กรณีไม่เสียชีวิต) รง 506.S กรมสุขภาพจิต และเวชระเบียนผู้ป่วยของผู้พยายามฆ่าตัวตาย สัญชาติไทย ที่เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2561 – 31 มีนาคม 2562 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาเป็นความถี่ ร้อยละ และหาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการพยายามฆ่าตัวตายด้วยการวิเคราะห์การถดถอยพหุโลจิสติก (multiple logistic regression analysis)
ผลการศึกษา พบผู้พยายามฆ่าตัวตายเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน จำนวน 121 ราย คิดเป็นความชุกเท่ากับร้อยละ 0.32 ของจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในทั้งหมดในช่วงเวลาเดียวกัน เป็นเพศหญิงร้อยละ 58.7 สถานภาพสมรสคู่ร้อยละ 48.8 ช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น (20-29 ปี) ร้อยละ 30.6 ส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ร้อยละ 65.3 อาชีพรับจ้างร้อยละ 41.3 เป็นการทำร้ายตนเองครั้งแรกร้อยละ 71.1 ใช้วิธีกินยาเกินขนาดร้อยละ 39.7 มีสาเหตุมาจากปัญหาความสัมพันธ์ร้อยละ 70.2
ผู้พยายามฆ่าตัวตายได้รับการวินิจฉัยเป็นภาวะปรับตัวผิดปกติร้อยละ 37.2 และโรคซึมเศร้าร้อยละ 36.4 สถานภาพสมรสคู่ เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการพยายามฆ่าตัวตายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (OR=4.508,
p-value=0.012, 95%CI 1.389-14.626)
สรุป สถานภาพสมรสคู่ เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการพยายามฆ่าตัวตาย
คำสำคัญ การพยายามฆ่าตัวตาย, ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง