การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด โรงพยาบาลวาปีปทุม

ผู้แต่ง

  • อังคณา เกียรติมานะโรจน์

บทคัดย่อ

                                                                                                               บทคัดย่อ

           ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นภาวะที่มีการติดเชื้อจากอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย และเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด หรือจากการติดเชื้อในกระแสเลือดโดยตรงจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตสูงขึ้นได้ การวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด โรงพยาบาลวาปีปทุมiการดำเนินการ
วิจัย แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1) ระยะศึกษาสถานการณ์ในกลุ่มผู้ป่วยที่แพทย์วินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อในกระแสเลือด จำนวน 194 ราย และทีมสหสาขาวิชาชีพ จำนวน 12 ราย 2) ระยะพัฒนารูปแบบ ทดลองใช้ และนำสู่การปฏิบัติ ในกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด จำนวน 114 ราย และทีมสหสาขาวิชาชีพ จำนวน 97 ราย และ 3) ระยะประเมินผลรูปแบบในกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด จำนวน 196 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จากโปรแกรม HOSxP โรงพยาบาลวาปีปทุม แบบบันทึกข้อมูลผู้ป่วยข้อมูลส่วนบุคคล แบบสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนา การสังเกตแบบมีส่วนร่วม และผลลัพธ์ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และการวิเคราะห์เชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหา

           ผลการวิจัย พบว่า รูปแบบการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ประกอบด้วย 8 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) มีคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพสาขาโรคติดเชื้อในกระแสเลือด 2) มีแนวปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด 3) มีระบบการคัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดเข้าระบบบริการช่องทางด่วน 4) กำหนดแผนการรักษาภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด 5) กำหนดแนวทางการพยาบาลภาวะช็อกi6) มีระบบการให้คำปรึกษาแม่ข่าย-ลูกข่าย 7) กำหนดการลงข้อมูลการวินิจฉัยโรค และ 8) ทบทวนเวชระเบียนโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ ภายหลังการใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด พบว่า อัตราผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดลดลง จากเดิมในปี 2561 102 ราย เป็น 94 ราย ในปี 2562 คิดเป็นร้อยละ 7.8 ผู้ป่วยได้รับการเจาะส่งเพาะเชื้อก่อนให้ยาปฏิชีวนะ ร้อยละ 100 ได้รับยาปฏิชีวนะภายใน 1 ชั่วโมงหลังการวินิจฉัย ร้อยละ 100 และได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำอย่างน้อย 30 cc/Kg. ใน 1 ชั่วโมงแรก (กรณีไม่มีข้อห้ามในการให้ IV.) ร้อยละ 100 อัตราการส่งไปรักษาต่อผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดลงลดจากปี 2561 ร้อยละ 30.59 เป็นร้อยละ 25 ในปี 2562 และไม่พบผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด

คำสำคัญ : รูปแบบการดูแล, ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด, ภาวะช็อกจากการติดเชื้อ

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-04-28

ฉบับ

บท

Original Articles (นิพนธ์ต้นฉบับ)