Coronavirus disease (COVID-19) Pandemic

Authors

  • Sittichai Tantipasawasin Chonburi hospital

Keywords:

Covid-19, โควิด-19, Pandemic, โรคระบาด

Abstract

วันอังคาร ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2562 (ค.ศ.2019) ประเทศจีนรายงานว่าพบผู้ป่วยปอดอับเสบที่ไม่ทราบสาเหตุเป็นครั้งแรก ในเมืองอู่ฮั่น เมืองเอกของมณฑลหูเป่ย ทางตอนกลางของจีน

วันศุกร์ที่ 3 มกราคม รายงานอย่างเป็นทางการว่าโรคปอดอับเสบที่ระบาดในเมืองอู่ฮั่น มีสาเหตุจากโคโรน่าสายพันธ์ใหม่ เรียก “ไวรัสอู่ฮั่น” และสามารถแพร่จากคนสู่คนได้

วันเสาร์ ที่ 25 มกราคม พ.ศ.2563  เริ่มพบผู้ติดเชื้อไวรัสอู่ฮั่น ครั้งแรกในประเทศไทย ในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน จำนวน 6 คน

วันศุกร์ ที่ 31 มกราคม พ.ศ.2563 พบคนไทยรายแรกที่ติดเชื้อไวรัสอู่ฮั่น  ที่ไม่เคยมีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ

วันพุธ ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดชื่ออย่างเป็นทางการของเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธ์ใหม่ จาก “ไวรัสอู่ฮั่น” เป็น “COVID-19 (โควิด-19)” ซึ่งมาจากการรวมกันของคำว่า corona (โคโรน่า), virus (ไวรัส) และ disease (โรค) รวมเข้ากับปีของการเริ่มต้นการแพร่ระบาด คือปี 2019

 

วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2563 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศการระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ หรือโรค“โควิด-19” เป็นการระบาดใหญ่ (Pandemic) ไปทั่วโลก

ไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ หรือโรค“โควิด-19” เป็นไวรัสที่เกิดใหม่ ที่เรียกว่า Emerging virus เกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่ารีคอมบิเนชั่น (recombination) ซึ่งเป็นการกลายพันธ์ุแบบหนึ่ง จากไวรัสโคโรนาในสัตว์ข้ามมาติดคนได้ และปรับตัวเข้ากับคนเป็นอย่างดี ทำให้เกิดการระบาดติดต่อ จากคนสู่คนได้โดยง่าย

การศึกษาถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 (COVID-19) มีความใกล้เคียงกับไวรัสโคโรนาจาก ค้างคาวมากถึง 96% และยังคล้ายกับไวรัส SARS-CoV มากถึง 80% ไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จึงถูกจำแนกว่าเป็นไวรัสใหม่กลุ่มเดียวกับ เบต้าโคโรนาไวรัส เช่นเดียวกับไวรัส SARS-CoV และ MERS-CoV

ไวรัสโคโรนา ติดเชื้อในสัตว์หลายชนิด และในมนุษย์ พบว่าทำให้เกิดท้องเสีย และไข้หวัดธรรมดา จนในปี ค.ศ.2003-2004 พบไวรัสซาร์ (SARS-CoV) แพร่ระบาดจากประเทศจีน ไปยัง 17 ประเทศ ทำให้มีผู้ติดเชื้อ 8,096 คน และเสียชีวิต 774 คน อัตราตาย 9.6% และพบไวรัสเมอร์ (MERS-CoV) แพร่ระบาดในประเทศตะวันออกกลางในปี ค.ศ.2012 และเกาหลีใต้ในปี ค.ศ.2015 ทำให้มีผู้ติดเชื้อ 2,494 คน และเสียชีวิต 858 คน ใน 27 ประเทศ อัตราตาย 34%

ไวรัสโควิด-19 คือภัยคุกคามโลก ประการแรกไวรัสสามารถพรากชีวิตคนสูงวัยที่สุขภาพมีปัญหา ไปจนถึงเด็กที่มีสุขภาพดีได้ มีความเสี่ยงที่ทำให้คนเสียชีวิตประมาณ 1% ประการที่สอง ไวรัสโควิด-19 การแพร่เชื้อมีประสิทธิภาพมาก ติดต่อกันได้ง่าย เชื้อไวรัสแพร่กระจายผ่านการหายใจเอาละออง ที่มีไวรัสจากการไอ จาม จากนำ้มูก จากน้ำลาย หรือสัมผัสเชื้อ สัมผัสพื้นผิวหรือวัตถุที่มีไวรัสอยู่ แล้วมาสัมผัสจมูก ปาก หรือดวงตาของตนเอง นอกจากนี้ยังพบไวรัสในอุจจาระ ซึ่งอาจแพร่เชื้อได้ เช่นกัน

การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัส สามารทำได้ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่ ใช้เจลล้างมือที่มีแอลกอฮอล์ผสม ไม่นำมือมาสัมผัส ตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น ให้หลีกเลี่ยงการ พบปะใกล้ชิด เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล (Physical distancing) 2 เมตร หรือ 6 ฟุต หลีกเลี่ยงการ ไปอยู่ในที่ชุมชน (Social distancing) หรือห้องปิดที่อาจมีผู้ป่วย ไอ จาม อยู่บ้านและกักตัวเองให้ห่าง จากคนอื่นในบ้านหากรู้สึกไม่สบาย

วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2563 ประเทศไทยประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของ ไวรัสโควิด-19

วันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศ “เคอร์ฟิว” ทั่วประเทศไทย ห้ามประชาชนออกนอกที่พักอาศัย ระหว่าง 22.00 น. ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่มีความ จำเป็นเช่นเป็นผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ หรือขนส่งสินค้าอุปโภค บริโภค

องค์การอนามัยโลกระบุ ระยะการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ สามารถแบ่งออกเป็น 6 ระยะ หรือ 6 เฟส ดังนี้

 

เฟสที่ 1 คือเฟสที่มีการพบการติดเชื้อในสัตว์ แต่ยังไม่มีการรายงานว่าพบการติดเช้ือในมนุษย์

เฟสที่ 2 พบว่ามีการติดเชื้อในสัตว์ และเริ่มพิจารณาว่าไวรัสนั้นอาจแพร่เชื้อมายังมนุษย์ได้

เฟสที่ 3 พบว่ามีการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน เริ่มมีการแพร่ระบาดการติดเชื้อจากคนสู่คน

ทั้งเฟส 1 ถึง เฟส 3 นี้ถูกประเมินว่าเป็นช่วงที่มีความไม่แน่นอนในการแพร่ระบาด (Uncertain) ต้องมีการเตรียมพร้อม และมีแผนรับมือฉุกเฉินสำหรับโรคระบาดนี้

เฟสที่ 4 การระบาดของไวรัสอยู่ในระดับกลางไประดับสูง (Medium to High) มีการแพร่เชื้อจากคนสู่คนรวดเร็ว มีการจำแนกไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคระบาดได้ ระยะนี้ต้องมีการควบคุมอย่างรวดเร็ว ต้องร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกเพื่อจำกัดการแพร่เชื้อให้อยู่ในอัตราที่ช้าลง

เฟสที่ 5 มีการระบาดของไวรัสในระดับสูง (High to certain) มีการแพร่ระบาดของไวรัส และพบว่ามีอย่างน้อย 2 ประเทศแพร่ระบาดไปยัง 1 ภูมิภาค

เฟสที่ 6 อยู่ในภาวะระบาดใหญ่ (Pandemic in progress)

ทั้งเฟส 5 และเฟส 6  ประเทศต้องมีแผนการรับมือในระดับประเทศ ทั้งสองเฟสนี้ต้องเตรียม พร้อมรับมือ เริ่มเข้าสู่ภาวะอันตราย

Post-Peak Period ระยะนี้คือช่วงที่มีการระบาดไข้หวัดใหญ่ในหลายประเทศ ในอัตราที่ลดลง เป็นช่วงประเมินการตอบสนอง ช่วงฟื้นฟู และช่วงเตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่การระบาดที่จะกลับมาอีกครั้ง

Possible New Wave หลังผ่านการระบาดช่วงพีคคือช่วงที่ 5 และช่วงที่ 6 ไปแล้ว ผ่านช่วงหลังของการระบาดระดับสูงสุดไปแล้ว จะเข้าสู่การระบาดอีกครั้งหนึ่ง ช่วงนี้หลายประเทศต้องจับตา เฝ้าระวังการแพร่ระบาดไวรัสอีกครั้ง ช่วงนี้ถือเป็นช่วงเตรียมรับมือ

Post-Pandemic Period ช่วงนี้ถือเป็นช่วงสุดท้าย คือหลังการกลับมาระบาดของไวรัสอีกครั้ง ระดับของไข้หวัดใหญ่จะเข้าสู่ไข้หวัดตามฤดูกาล ช่วงนี้เป็นช่วงประเมิน และช่วงฟื้นฟู

ย้อนรอยวิกฤติ “โรคระบาด” ป่วนโลก

พ.ศ.2263 โรคกาฬโรค มีผู้เสียชีวิต 190,000 คน

พ.ศ.2363 โรคอหิวาตกโรค มีผู้เสียชีวิต 120,000 คน

พ.ศ.2463 โรคไข้หวัดใหญ่สเปน จากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ H1N1  มีผู้เสียชีวิต 50 ล้านคน อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 2-3%

พ.ศ.2545 ไวรัสซาร์ส (SARS) มีผู้ติดเชื้อ 8,098 คน มีผู้เสียชีวิต 774 คน อัตราการตาย 9.6%

พ.ศ.2552 ไข้หวัดใหญ่ H1N1 มีผู้ติดเชื้อกว่า 130 ประเทศ มีผู้เสียชีวิต 1.5-5.7 แสนคน

พ.ศ.2555 เมอร์ส (MERS) มีผู้ติดเชื้อ 2494 คน มีผู้เสียชีวิต 854 คน อัตราการตาย 34.4%

พ.ศ.2557 อีโบลา มีผู้ติดเชื้อกว่า 10 ประเทศ มีผู้เสียชีวิต 11,000 คน อัตราการตาย 40.4%

พ.ศ.2559 ซิกา มีผู้ติดเชื้อกว่า 90 ประเทศ มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ

พ.ศ.2561 อีโบลา รอบใหม่ในคองโก มีผู้ติดเชื้อ 3,905 คน มีผู้เสียชีวิต 2,241 คน

และ โควิด-19 ในปี พ.ศ.2563

ณ วันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2563  จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลก 3,220,225 คน การกระจายของเชื้อครอบคลุม 208 ประเทศ มีผู้เสียชีวิตจากเชื้อโควิด-19 แล้วทั้งส้ิน 228,223 ศพ อัตราการเสียชีวิตร้อยละ 7.09

ในประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวมสะสม 2,954 คน การกระจายของโรคครอบคลุม 68 จังหวัด กระจุกตัวที่ กทม.-นนทบุรี และจังหวัดท่องเที่ยวภาค ตะวันออกและภาคใต้ รวมถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมียอดผู้เสียชีวิตรวม 54 ศพ อัตราการเสียชีวิตร้อยละ 1.8

บทบาทผู้นำมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างหนัก ในภาวะวิกฤต ผู้นำมีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ 2 เรื่องหลักๆ นั้นคือต้องแก้ปัญหาทันที และพยายามป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นอีก นั้นคือต้องรักษาชีวิตผู้คนให้ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องหาทาง รับมือกับไวรัสระบาดด้วย

คนไทยต้องรอด ประเทศไทยต้องชนะ  ด้วยกลยุทธ์

“อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”

บรรณาธิการ

ทพ.สิทธิชัย ตันติภาสวศิน

 

Author Biography

Sittichai Tantipasawasin, Chonburi hospital

chairman of oral and maxillofacial surgery department

Downloads

Published

2020-05-07