ภาวะหมดไฟในการทำงานและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์เด็กและสตรี (ศูนย์พึ่งได้)

ผู้แต่ง

  • หทัยภัทร วิทยศักดิ์พันธุ์ โรงพยาบาลชลบุรี

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาระดับภาวะหมดไฟ และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ในเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี

วิธีการศึกษา: การศึกษาเชิงพรรณนาในเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี จังหวัดชลบุรี โดยใช้แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลในการทำงาน แบบประเมินพลังสุขภาพจิต (Resilience Quotient;RQ) และแบบประเมินภาวะหมดไฟในการทำงาน สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

ผลการศึกษา: มีผู้เข้าร่วมงานวิจัยทั้งหมด 62 ราย ร้อยละ 85.48 เป็นเพศหญิง อายุเฉลี่ย 42.6±10.45 ปี ร้อยละ 25.81 มีอาชีพพยาบาล ร้อยละ 17.74 อาชีพนักสังคมสงเคราะห์ บุคลากรส่วนใหญ่ทำงานที่โรงพยาบาล และ บ้านพักเด็ก/สถานสงเคราะห์ ร้อยละ 56.45 มีภาวะหมดไฟระดับปานกลาง ร้อยละ 62.90 มีภาวะหมดไฟด้านความอ่อนล้าทางด้านอารมณ์อยู่ในระดับต่ำ ร้อยละ 61.29 มีภาวะหมดไฟด้านการลดความเป็นบุคคลอยู่ในระดับต่ำ และร้อยละ 79.03 มีภาวะหมดไฟด้านความสำเร็จส่วนบุคคลอยู่ในระดับสูง ปัจจัยด้านระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ และบทบาททับซ้อนในการทำงานบ่อย สัมพันธ์กับภาวะหมดไฟในการทำงานสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่การมีความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานดีมาก และ RQ ด้านการมีความหวังและกำลังใจสูงกว่าเกณฑ์ สัมพันธ์กับภาวะหมดไฟในการทำงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อวิเคราะห์แบบ multivariate analysis พบว่า ปัจจัยที่ยังคงมีผลต่อภาวะหมดไฟในการทำงานของบุคลากร ได้แก่ บทบาททับซ้อนในการทำงานบ่อย และ RQ ด้านการมีความหวังและกำลังใจสูงกว่าเกณฑ์ โดยมีค่า Odds ratio เป็น 8.10 เท่า และ 0.07 เท่า ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าปัญหาในการทำงานยิ่งมีปัญหาหลายด้านสัมพันธ์กับคะแนนภาวะหมดไฟ ด้านความอ่อนล้าทางอารมณ์ และด้านการลดความเป็นบุคคลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และ RQ ทั้งผลคะแนนรวมและผลคะแนนย่อยในแต่ละด้าน พบว่าหากมีคะแนนสูงจะสัมพันธ์กับการลดลงของผลคะแนนภาวะหมดไฟด้านความอ่อนล้าทางอารมณ์ และด้านการลดความเป็นบุคคลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

สรุป: ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดภาวะหมดไฟในเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี คือ ปัญหาเรื่องบทบาททับซ้อนในการทำงาน ขณะที่ resilience ด้านการมีความหวังและกำลังใจเป็นปัจจัยป้องกันภาวะหมดไฟได้ดีที่สุด และหากยิ่งมีปัญหาการทำงานทับซ้อนหลายด้าน พบว่าสัมพันธ์กับผลคะแนนภาวะหมดไฟด้านความอ่อนล้าทางอารมณ์และด้านการลดความเป็นบุคคลเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

คำสำคัญ : ภาวะหมดไฟ, เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์เด็กและสตรี, ปัญหาการทำงาน, พลังสุขภาพจิต

ประวัติผู้แต่ง

หทัยภัทร วิทยศักดิ์พันธุ์ , โรงพยาบาลชลบุรี

จิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น หน่วยงานจิตเวชและยาเสพติด

เอกสารอ้างอิง

Maslach C, Leiter MP. Understanding the burnout experience: recent research and its implications for psychiatry. World Psychiatry. 2016;15(2):103–11.

Papathanasiou I. Work-related mental consequences: Implications of burnout on Mental Health status among health care providers. Acta Informatica Medica. 2015;23(1):22.

Edú-Valsania S, Laguía A, Moriano JA. Burnout: a review of theory and measurement. International Journal of Environmental Research and Public Health. 2022;19(3):1780.

Sumalai P. The Register Nurses’ Burnout in Bamrasnaradura Infectious Disease Institute. Journal of Prachomklao College of Nursing. 2021;4(2):66-78.

Bumrungphanichthaworn T, Jaidee W, Wattanaburanon A, Maharachpong N. COVID-19 factors related to burnout of worker in community hospital on pandemic COVID-19. The Public Health Journal of Burapha University. 2022;17(1):102-10.

Zosky DL. Wearing your heart on your sleeve: the experience of burnout among child welfare workers who are cognitive versus emotional personality types. Journal of Public Child Welfare. 2010;4(2):117–31.

Prasertsom P, Yotanyamaneewong S. Conditions and impacts of burnout in child protective service workers. Journal of Social Work. 2021;29(2):67-93.

โสวรรณ อินทสิทธิ์, สิริกุล จุลคีรี. เปลี่ยนร้ายกลายเป็นดี พลังสุขภาพจิต RQ: Resilience Quotient. นนทบุรี: สำนักวิชาการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข; 2020.

Pharris AB, Munoz RT, Hellman CM. Hope and resilience as protective factors linked to lower burnout among child welfare workers. Children and Youth Services Review. 2022;136:106424.

Ellinas H, Ellinas E. Burnout and protective factors: Are they the same amid a pandemic? Journal of Graduate Medical Education. 2020;12(3):291–4.

Mala M. Job burnout in the performance of village health volunteers in Health Region 4. Journal of Health Science of Thailand. 2021;30(5):944-5.

Sinutpattanasuk P, Wijitraphan T. Risk factors of job burnout among personnel of Sanpatong Hospital, Chiangmai Province. Journal of Health Science of Thailand. 2022;31(1):154–63.

Boyas JF, Moore D, Duran MY, Fuentes J, Woodiwiss J, McCoy L, et al. Exploring the health of child protection workers: a call to action. Health promotion perspectives. 2022;12(4):381–90.

Colla R, Williams P, Oades LG, Camacho-Morles J. “A new hope” for positive psychology: a dynamic systems reconceptualization of hope theory. Frontiers in Psychology. 2022;13:809053.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2024-08-31