ไซยาไนด์ สารพิษอันตราย
บทคัดย่อ
ไซยาไนด์ (Cyanide) เป็นสารเคมีซึ่งมีความเป็นพิษสูง ประกอบจากคาร์บอนและไนโตรเจน อย่างละ 1 อะตอม(CN) เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะไปยับยั้งการหายใจระดับเซลล์ เซลล์ขาดออกซิเจน ทำให้เซลล์ใช้ออกซิเจนในการผลิตสาร ATP (Adenosine Triphosphate) สารที่ให้พลังงานระดับเซลล์ ไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอวัยวะที่ใช้ออกซิเจนและพลังงานสูง เช่น สมอง และหัวใจ เป็นลำดับแรกๆ ร่างกายเพิ่มการเผาผลาญแบบไม่ใช้ออกซิเจน ทำให้เกิดสารพิษทำให้เลือดเป็นกรด สามารถทำให้ผู้ที่ได้รับไซยาไนด์ เสียชีวิตเฉียบพลันได้ ภายในเวลาไม่กี่นาทีขึ้นอยู่กับปริมาณและความเข้มข้นของสารที่ร่างกายได้รับเข้าไป
คนส่วนใหญ่อาจมองว่าไซยาไนด์เป็นเรื่องไกลตัว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไซยาไนด์เป็นสารพิษที่วนเวียนอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา ไซยาไนด์พบในพืชและผลไม้ เช่น เมล็ดแอปเปิ้ล เมล็ดแอพพริคอท (Apricot) เมล็ดเชอรรี่ดำ (Black cherry) พีช ลูกแพร และถั่วอัลมอนด์รสขม เรายังสามารถได้รับไซยาไนด์จากการรับประทานหัวและใบของมันสำปะหลัง (Cassava) และหน่อไม้ดิบ โดยสารลินามาริน (Linamarin) ซึ่งพบได้ในหัวและใบของมันสำปะหลังดิบ เมื่อรับประทานเข้าไป ร่างกายจะเปลี่ยนลินามาริน เป็นสารไซยาไนด์ เราจึงไม่ควรรับประทานเมล็ดของผลไม้ประเภทนี้ รวมถึงมันสำปะหลังหรือหน่อไม้ดิบโดยเด็ดขาด เราสามารถกำจัดไซยาไนด์เหล่านี้ ด้วยวิธีการง่ายๆ โดยการต้มและการปรุงสุก ไซยาไนด์ยังเป็นสารที่สามารถพบได้ในบุหรี่ จากงานวิจัยพบว่าระดับของไซยาไนด์ในเลือดเฉลี่ยของผู้ที่สูบบุหรี่นั้นมีค่าสูงกว่าคนไม่สูบถึง 2.5 เท่า
ไซยาไนด์เป็นสารเคมีที่มีการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ หลายชนิด เช่น อุตสาหกรรมการถลุงโลหะ การชุบโลหะ ทองและจิลเวลรี่ การผลิตกระดาษ สิ่งทอ และพลาสติก และเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์หลายประเภท เช่น ยาฆ่าแมลง น้ำยาขัดเงาโลหะ น้ำยาทำความสะอาด ฯลฯ นอกจากนี้ยังสามารถพบไซยาไนด์ ปนเปื้อนในอากาศ ดิน น้ำ และอาหาร ได้แก่ ก๊าซ hydrogen cyanide สารละลาย potassium cyanide ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้วัสดุที่มีคาร์บอนและไนโตรเจน สารพลาสติก เมลานีน เรซิน ไนล่อน ไหม ขนสัตว์ polyurethane และยางสังเคราะห์ สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด คือ ไฟไหม้บ้าน หรือไฟไหม้รถ
เมื่อได้รับสารพิษไซยาไนด์ ผู้ป่วยมักจะเริ่มปรากฏมีอาการหลังจากได้ไซยาไนด์ภายในเวลาไม่กี่วินาที อวัยวะที่ใช้พลังงานมากเช่นสมองและหัวใจ จะได้รับผลกระทบ และมีอาการเป็นอันดับแรก คือ ปวดศีรษะ กระวนกระวาย สับสน ซึม หมดสติหรือชัก และระบบหัวใจ อาการเริ่มจากใจสั่น ความดันโลหิตสูง ต่อมาหัวใจเต้นช้าและความดันตก หัวใจเต้นผิดจังหวะ การไหลเวียนโลหิตล้มเหลว จึงเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว การหายใจช่วงแรกจะเร็ว แล้วช้าลงจนหยุดหายใจ อาจมีอาเจียนและปวดท้อง อาการโดยรวมคล้ายคนถูกพิษคาร์บอนมอนนอกไซด์จากการรมควันท่อไอเสียในรถ
ไซยาไนด์สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายช่องทางไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสโดนผิวหนัง การสูดดมเข้าสู่ทางเดินหายใจ และการรับประทานเข้าสู่กระเพาะอาหาร อาการของผู้ที่ได้รับไซยาไนด์ขึ้นอยู่กับบริเวณที่สัมผัสกับสารพิษ และความปริมาณของสารพิษที่ได้รับ การตรวจร่างกายผู้ได้รับสารพิษไซยาไนด์จะมีลักษณะพิเศษคือผิวแดง (cherry-red) เพราะออกซิเจนในหลอดเลือดดำสูง หรือ ผิวม่วงคล้ำได้ ลมหายใจกลิ่นอัลมอนด์หากเกิดพิษจากการสูดดมสาร hydrogen cyanide อาการของผู้ได้รับสารพิษอาจมีอาการ หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ หมดสติ ชัก เลือดเป็นกรดรุนแรง และเสียชีวิต การตรวจชันสูตรพบสารไซยาไนด์ในกระแสเลือดโดยผลกระทบจากการได้รับไซยาไนด์อาจแบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้
ภาวะเป็นพิษจากไซยาไนด์แบบเฉียบพลัน เป็นอาการที่เกิดขึ้นในทันที เช่น หายใจติดขัด เลือดไหลเวียนผิดปกติ ภาวะหัวใจหยุดเต้น สมองบวม ชัก และหมดสติ เป็นต้น
ภาวะเป็นพิษจากไซยาไนด์แบบเรื้อรัง (ได้รับไซยาไนด์ในปริมาณน้อยอย่างต่อเนื่อง) เกิดจากการได้รับไซยาไนด์ ปริมาณเล็กน้อยต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ในเบื้องต้นอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เกิดผื่นแดง การรับรสผิดปกติ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และกระวนกระวาย และอาจมีอาการอื่นๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น รูม่านตาขยาย ตัวเย็น อ่อนแรง หายใจช้า เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้หัวใจเต้นช้าหรือเต้นผิดปกติ ผิวหนังบริเวณใบหน้าและแขนขากลายเป็นสีม่วง หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด การสะสมของสารไซยาไนด์จากการรับประทานพืชบางชนิดในปริมาณที่มากเกินไป เช่น มันสำปะหลัง ทำให้มีอาการชา สูญเสียการทรงตัว สูญเสียการได้ยิน ประสาทตาฝ่อจนอาจสูญเสียการมองเห็นโดยเฉพาะในผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ
ดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
ฉบับ
บท
การอนุญาต
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
บทความที่ได้รับการตีพิมพิ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารโรงพยาบาลชลบุรี