ประสิทธิผลของการสร้างเครือข่ายภาคเอกชนในการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคเมอร์สในผู้เดินทางจากประเทศแถบตะวันออกกลาง พื้นที่กรุงเทพมหานคร

ผู้แต่ง

  • นภัทร วัชราภรณ์ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรุงเทพมหานคร
  • เตือนใจ นุชเทียน สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรุงเทพมหานคร
  • วนิดา ดิษวิเศษ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรุงเทพมหานคร
  • สืบสกุล สากลวารี สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรุงเทพมหานคร
  • โสภณ เอี่ยมศิริถาวร สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรุงเทพมหานคร

คำสำคัญ:

โรคเมอร์ส, เครือข่ายภาคเอกชน, การเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค, ประสิทธิผล

บทคัดย่อ

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการสร้างเครือข่ายภาคเอกชนในการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคเมอร์ส ในผู้เดินทางจากประเทศแถบตะวันออกกลาง กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้บริหารหรือผู้จัดการโรงแรม เจ้าของ ร้านขายยา เจ้าของคลินิก และผู้ดูแลสุเหร่าหรือมัสยิด เก็บรวมรวมข้อมูลโดยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกและสนทนากลุ่มดำเนินการในช่วงเดือนมิถุนายน 2558 - กรกฎาคม 2559 ชุมชนในแถบซอยนานา แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา ซึ่งเป็นชุมชนที่ผู้เดินทางชาวตะวันออกกลางนิยมเดินทางมาพักอาศัย ผลการศึกษาพบว่า เครือข่ายภาคเอกชนสามารถเฝ้าระวังและบริหารจัดการความเสี่ยงโรคเมอร์สได้ โดยสามารถดำเนินการในแต่ละกระบวนการดังนี้ (1) การ จัดการระบบ โรงแรมมีผู้บริหารเป็นผู้สั่งการโดยมอบหมายหน้าที่ให้ผู้จัดการโรงแรมเป็นผู้ประสานงานหลักกับแต่ละแผนกในโรงแรม และหน่วยงานภายนอก มีการเรียกประชุมร่วมกันเพื่อทำความเข้าใจ และแบ่งบทบาทหน้าที่ให้แต่ละแผนกมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน (2) การจัดการความเสี่ยง สามารถจัดการเรื่องการแยกผู้สัมผัสและการดูแล ลูกค้าคนอื่น ๆ โดยแบ่งโซนที่พัก ให้กลุ่มเสี่ยงพักแยกจากผู้เข้าพักท่านอื่น ๆ (3) การจัดการข้อมูล มีการประเมินอาการของผู้เข้าพักด้วยแบบคัดกรอง การรวบรวมรายชื่อผู้เดินทางที่เข้าพักรายใหม่ที่มาจากแถบตะวันออกกลาง และ ผู้ที่มีอาการเข้าข่ายสงสัยโรคเมอร์ส ส่งให้สำนักงานควบคุมโรคที่ 1 กรุงเทพฯ เพื่อเป็นฐานข้อมูล (4) การสื่อสารความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์ มีการแจกแผ่นพับ ติดโปสเตอร์และประกาศผ่านเสียงตามสาย และจากการติดตามการดำเนินงานของเครือข่ายภาคเอกชนในชุมชน พบว่าสามารถป้องกันควบคุมโรคได้โดยไม่พบผู้ที่มีอาการสงสัยเข้าเกณฑ์โรคเมอร์สรายใหม่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยมีประเด็นสำคัญที่ทำให้สามารถควบคุมโรคได้ดี คือ มีการประสานงานที่รวดเร็ว สามารถรายงานความผิดปกติผ่านช่องทางต่างๆ ตลอด 24 ชั่วโมง และผู้บริหารให้การสนับสนุน ดังนั้นการสร้างเครือข่ายภาคเอกชนในชุมชนจึงถือเป็นความจำเป็นที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพราะเครือข่ายเหล่านี้มีความเข้าใจในภาษาและวัฒนธรรมของชาวตะวันออกกลาง สามารถเข้าถึง ติดต่อสื่อสารและสร้างความเข้าใจได้ดีประกอบกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการให้บริการ จึงควรส่งเสริมและขยายการสร้างเครือข่ายภาคเอกชนในพื้นที่เสี่ยงเพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรค และนำรูปแบบการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคเมอร์สมาขยายผลในแห่งอื่นๆ ที่มีผู้เดินทางจากประเทศแถบตะวันออกกลาง ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2017-10-25

วิธีการอ้างอิง

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ

บทความที่มีผู้อ่านมากที่สุดจากผู้แต่งเรื่องนี้