ต้นทุนต่อหน่วยรายบริการทันตกรรม ย้อนหลัง 3 ปี เปรียบเทียบอัตราค่ารักษาพยาบาลกรมบัญชีกลาง พ.ศ. 2559 และอัตราค่าบริการของหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2560

ผู้แต่ง

  • บุญเกียรติ วัฒนเรืองรอง กลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลบางจาก จังหวัดสมุทรปราการ

คำสำคัญ:

ต้นทุนต่อหน่วยรายบริการ, บริการทันตกรรม, กรมบัญชีกลาง, กระทรวงสาธารณสุข

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาต้นทุนต่อหน่วยบริการทันตกรรมของโรง-พยาบาลบางจาก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2556 ถึง 30 กันยายน 2559 โดยรวบรวมจากแหล่งข้อมูลใบเบิกฎีกาจ่ายเงินเดือนและเงินสวัสดิการอื่นๆ ข้อมูลในโปรแกรม inventory ข้อมูลค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค ข้อมูลค่าเสื่อมราคาครุภัณฑ์ทันตกรรม ข้อมูลการซ่อมบำรุงครุภัณฑ์ทันตกรรม ข้อมูลค่าจ้างเอกชนทำแล็บฟันเทียม ข้อมูลปริมาณการให้บริการทันตกรรมจากโปรแกรม Hosxp จำแนกประเภทการบริการทันตกรรมตามการเบิกจ่ายของกรมบัญชีกลาง การศึกษาพบว่า สัดส่วนต้นทุนค่าแรง:ต้นทุนค่าวัสดุ:ต้นทุนค่าลงทุน ในงบประมาณปี 2557 เท่ากับ 54.06:8.34:37.60 ปี 2558 เท่ากับ 56.49:9.68:33.82และปี 2559 เท่ากับ 58.17:10.90:30.93 ส่วนต้นทุนต่อหน่วยรายบริการทันตกรรมสูงสุด 3 อันดับแรก คืองาน ฟันเทียมติดแน่นชนิด Fixed Bridge 3-5 Unit รองลงมาคือ งานใส่ฟันเทียมทั้งปากและฟันเทียมฐานโลหะชนิดถอดได้ >5 ชี่ เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนกับอัตราค่าบริการของกรมบัญชีกลางโดยวิธี ratio of cost to charges (RCC) พบว่า อัตราส่วนต้นทุนทันตกรรมต่ำกว่าค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บ (RCC<1) 3 อันดับแรก คือ งานเคลือบหลุมร่องฟัน การเจาะ ถุงหนองภายในช่องปากและงาน root planing/curettage เท่ากับ 0.37, 0.55 และ 0.56 ตามลำดับ ส่วนอัตราส่วน ต้นทุนทันตกรรมที่สูงกว่าค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บ (RCC>1) 3 อันดับแรก คือ งานทันตรังสี ฟันปลอมติดแน่นชนิด Crown และ torectomy, ostectomy of maxilla เท่ากับ 2.37, 1.73 และ 1.63 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราค่าบริการของหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขพบว่า งานทันตรังสีมีต้นทุนทันตกรรมสูงกว่าอัตราค่าบริการ 1.58 เท่าและงานเคลือบหลุมร่องฟัน มีต้นทุนทันตกรรมต่ำกว่าอัตราค่าบริการ 3.71 เท่า

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2018-07-03

วิธีการอ้างอิง

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ