ความถูกต้องแม่นยำของการตรวจแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์เต้านมในโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช: การศึกษาแบบย้อนหลัง

ผู้แต่ง

  • พนิดา อิศราภรณ์ กลุ่มงานรังสีวิทยา โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี

คำสำคัญ:

แมมโมแกรม, มะเร็งเต้านม, อัลตร้าซาวด์เต้านม, ความถูกต้องแม่นยำ

บทคัดย่อ

การศึกษานี้เป็นการศึกษาย้อนหลังเชิงพรรณนา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความถูกต้องแม่นยำของการตรวจแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์เต้านมโดยรายงานผลการตรวจตามระบบไบแรดส์ในโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช เก็บรวบรวมข้อมูล ผู้ป่วยหญิงทั้งหมด 823 คน ทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการ ที่ได้รับการตรวจแมมโมแกรมในโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช ตั้งแต่ เดือนมกราคม พ.ศ. 2558 ถึง เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 โดยรายงานผลการตรวจตามระบบไบแรดส์ ดังนี้ ไบแรดส์ชนิดที่ 1 คือ ผลตรวจเป็นปกติ ไบแรดส์ชนิดที่ 2 คือ ความผิดปกติที่ไม่ใช่มะเร็ง ไบแรดส์ชนิดที่ 3 คือ ความผิดปกติที่น่าจะไม่เป็นมะเร็ง ไบแรดส์ชนิดที่ 4 คือ ความผิดปกติที่สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็ง และไบแรดส์ชนิดที่ 5 คือ ความผิดปกติที่สงสัยอย่างยิ่งว่าอาจเป็นมะเร็ง ไบแรดส์ชนิดที่ 1 ถึง 3 ถือว่าผลการตรวจให้ผลลบ ไบแรดส์ชนิดที่ 4 และ 5 ถือว่าผลการตรวจให้ผลบวก หาความถูกต้องแม่นยำโดยผลการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาหรือการตรวจติดตามด้วยแมมโมแกรมต่อไปอย่างน้อย 24 เดือน วิเคราะห์ผลโดยทำการคำนวณค่าความถูกต้องแม่นยำ ความไว ความจำเพาะ ค่าพยากรณ์ผลบวก และ ค่าพยากรณ์ผลลบ ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยทั้งสิ้น 523 ราย ถูกรวบรวมเข้าในการศึกษา ลักษณะทางคลินิกที่พบมากที่สุดได้แก่ ก้อนที่เต้านม 329 ราย (ร้อยละ 62.91) รองลงมาคือ ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม 145 ราย (ร้อยละ 27.72) เจ็บเต้านม 33 ราย (ร้อยละ 6.31) ก้อนที่รักแร้ 10 ราย (ร้อยละ 1.91) และ น้ำคัดหลั่งออกจากหัวนม 6 ราย (ร้อยละ 1.15) ตามลำดับ อายุเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างคือ 50.38 ปี การแปลผลการตรวจตามระบบไบแรดส์ พบว่า ไบแรดส์ชนิดที่ 2 และ 3 (ร้อยละ 51.24) ซึ่งได้แก่ความผิดปกติที่ไม่ใช่มะเร็ง และความผิดปกติที่น่าจะไม่เป็นมะเร็ง พบมากที่สุดในการศึกษานี้ ผลการตรวจที่ให้ผลลบมีทั้งสิ้น 345 ราย (ร้อยละ 65.97) และผลการตรวจที่ให้ผลบวกมีทั้งสิ้น 178 ราย (ร้อยละ 34.03) ผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาทั้งสิ้น 208 ราย (ร้อยละ 39.77) พบว่า 94 รายเป็นมะเร็ง ส่วนอีก 114 ราย ไม่ใช่มะเร็ง ความถูกต้องแม่นยำของการรายงานผลร้อยละ 82.79 ความไวร้อยละ 96.81 ความจำเพาะร้อยละ 79.72 ค่าพยากรณ์ผลบวกร้อยละ 51.12 และ ค่าพยากรณ์ผลลบร้อยละ 99.13 โดยสรุป การตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรมโดยรายงานผลการตรวจตามระบบไบแรดส์ มีบทบาทสำคัญในการวินิจฉัยและคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม กลุ่มที่ไม่ได้เป็นมะเร็งพบบ่อยกว่ากลุ่มที่เป็นมะเร็ง การศึกษานี้บ่งชี้ว่าแมมโมแกรมร่วมกับอัลตร้าซาวด์เต้านมเป็นการตรวจที่มีความไวสูง แต่มีความจำเพาะต่ำกว่าการศึกษาอื่น โดยมีความถูกต้องแม่นยำของการรายงานผลร้อยละ 82.79 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแมมโมแกรมเป็นการตรวจที่มีประโยชน์มากในการคัดกรองผู้ป่วยหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาคุณภาพเพิ่มเติม เพื่อหาแนวทางที่จะช่วยให้การวินิจฉัยมีความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น และศึกษาความคุ้มค่าในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมในประเทศไทย

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2019-10-31

วิธีการอ้างอิง

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ