ความชุกและความสัมพันธ์ของภาวะวิตามินดีต่ำ กับการเกิดกระดูกสะโพกหักจากภาวะกระดูกพรุน

ผู้แต่ง

  • ฐิตินันท์ อนุสรณ์วงศ์ชัย กรมการแพทย์

บทคัดย่อ

ภาวะขาดวิตามินดีมีความสัมพันธ์ต่อการลดลงของความแข็งแรงของกระดูก ทำให้เกิดอุบัติการณ์ของกระดูกหักมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยอายุมากกว่า50ปี การสำรวจความชุกของภาวะขาดวิตามินดี และปัจจัยต่างๆที่สัมพันธ์กับการขาดวิตามินดี อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับการแก้ไขและรักษาสาเหตุเพื่อลดอุบัติการณ์การเกิดภาวะขาดวิตามินดีและการเกิดกระดูกหักซ้ำในอนาคต

วิธีการศึกษา

การศึกษาสำรวจเชิงพรรณนาย้อนหลัง (retrospective descriptive observational cross-sectional study) ผู้ป่วยโครงการ Refracture prevention ที่มีปัญหากระดูกสะโพกหักโดยไม่ได้รับอุบัติเหตุรุนแรง ศึกษาหาความชุกของภาวะพร่องและขาดวิตามินดี รวมถึงปัจจัยที่สัมพันธ์กับการขาดวิตามินดี โดยเก็บข้อมูลพื้นฐาน เช่น อายุ เพศ น้ำหนัก โรคประจำตัว ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ระดับวิตามินดีในเลือด (25 hydroxy vitamin D level: 25OHD) ผลการตรวจมวลกระดูกบริเวณสันหลังและสะโพก โดยใช้แบบบันทึกข้อมูล (case record form) และ วิเคราะห์ทางสถิติด้วยโปรแกรม SPSS วิธี wilcoxon ranksum test, chi-square test, Fisher exact Probability Test

ผลการศึกษา

ผู้ป่วยในโครงการ Refracture prevention รวม 516 ราย ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2561 ถึง 30 ธันวาคม 2563 (ระยะเวลา 2 ปี 6 เดือน) พบระดับวิตามินดีผิดปกติร้อยละ 84.5 โดยมีความชุกของภาวะพร่องวิตามินดี (25OHD 20-29 ng/mL) ร้อยละ 33.9 ความชุกของภาวะขาดวิตามินดี (25OHD 10-19 ng/mL) ร้อยละ 39.1 และ ความชุกของภาวะขาดวิตามินดีรุนแรง (25OHD < 10 ng/mL) ร้อยละ 11.4 โดยพบว่าปัจจัยที่สัมพันธ์กับภาวะขาดวิตามินดี ได้แก่ เพศหญิง (2.97เท่า) โดย มากกว่าเพศชายถึง 3.8 เท่า นอกจากนี้ พบว่าระดับความรุนแรงของการขาดวิตามินดี มีความสัมพันธ์กับภาวะพร่องอัลบูมินในเลือดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

สรุป

ผู้ที่มีปัญหากระดูกสะโพกหักจากโรคกระดูกพรุน มีความชุกของภาวะพร่องและขาดวิตามินดีในอัตราที่สูงถึงร้อยละ 84.5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพศหญิง และผู้ที่มีภาวะพร่องอัลบูมินในเลือด

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2023-12-29

วิธีการอ้างอิง