ปัจจัยทำนายภาวะดัชนีมวลกายเกินเกณฑ์ปกติของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก

ผู้แต่ง

  • ประเด็จ ธีรพงษ์พัฒนา โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก

บทคัดย่อ

          การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยทำนายภาวะดัชนีมวลกายเกินเกณฑ์ปกติของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ บุคลากรโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ที่ดำเนินการตอบแบบประเมินความสุขบุคลากร (Happinometer) สำหรับบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข และมีค่าดัชนีมวลกาย Body Mass Index (BMI) เท่ากับหรือมากกว่า 23 ได้ขนาดตัวอย่างจำนวน 302 คน รูปแบบการวิจัยแบบ Retrospective Descriptive Study ใช้ฐานข้อมูลจากแบบประเมินความสุขบุคลากร (Happinometer) สำหรับบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนาหาค่าสถิติพื้นฐาน คือ แจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ และวิเคราะห์ปัจจัยทำนายภาวะดัชนีมวลกายเกินเกณฑ์ปกติของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล โดยใช้การวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ Multiple Regression Analysis

          ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยอายุ สถานภาพสมรส การรับประทานอาหารเช้า การออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ และชีวิตเป็นไปตามที่คาดหวัง เป็นปัจจัยทำนายภาวะดัชนีมวลกายเกินเกณฑ์ปกติของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 และ 0.05 โดยที่ ปัจจัยด้านอายุเพิ่มขึ้น 1 หน่วย จะส่งผลต่อภาวะดัชนีมวลกายเพิ่มขึ้น 0.126 หน่วย ปัจจัยด้านสถานภาพสมรสเพิ่มขึ้น 1 หน่วย จะส่งผลต่อภาวะดัชนีมวลกายเพิ่มขึ้น 0.068 หน่วย ปัจจัยด้านการรับประทานอาหารเช้า เพิ่มขึ้น 1 หน่วย จะส่งผลต่อภาวะดัชนีมวลกายเพิ่มขึ้น 0.094 หน่วย ปัจจัยด้านการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น 1 หน่วย จะส่งผลต่อภาวะดัชนีมวลเพิ่มขึ้น 0.155 หน่วย และปัจจัยด้านชีวิตเป็นไปตามที่คาดหวังเพิ่มขึ้น 1 หน่วย จะส่งผลต่อภาวะดัชนีมวลกายเพิ่มขึ้น 0.096 หน่วย โดยที่ปัจจัยด้านการออกกำลังกายเพิ่มขึ้น 1 หน่วย จะส่งผลต่อภาวะดัชนีมวลกายลดลง 0.155 หน่วย

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2023-12-29

วิธีการอ้างอิง