อัตราอุบัติการณ์ และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ในกลุ่มเสี่ยง โรงพยาบาลสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช

ผู้แต่ง

  • ชนาธิป อังคณานนท์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

บทคัดย่อ

 การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักในกลุ่มเสี่ยง และศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยในการเกิดผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ในพื้นที่อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช กลุ่มตัวอย่างคือ กลุ่มเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก จำนวน 307 ราย เครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลคือ แบบคัดกรองการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ และแบบบันทึกผลการตรวจยืนยันด้วยการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าเฉลี่ย วิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โดยการวิเคราะห์ถดถอยพหุโลจิสติก

  ผลการศึกษา พบว่า ผลการตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระเป็นบวก ร้อยละ 34.8 เมื่อตรวจยืนยันด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่พบความผิดปกติ ร้อยละ 6.1 ประกอบด้วย ติ่งเนื้อ ร้อยละ 4.2 ถุงที่ผนังลำไส้ ร้อยละ 0.6 ก้อนที่ลำไส้ไส้ใหญ่ ร้อยละ 0.3 ริดสีดวงทวาร ร้อยละ 0.3 และมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ร้อยละ 0.6 คิดเป็นอัตราอุบัติการณ์ของกลุ่มเสี่ยงเท่ากับ 1.6 ต่อประชากรหนึ่งพันคน ด้านปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก พบว่า เพศและประวัติเนื้องอกที่ลำไส้ มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (OR adj = 3.9, 95% CI; 2.3-7.6, p-value=0.00; OR adj = 2.1, 95% CI; 1.3-5.2, p-value=0.03) ดังนั้น การคัดกรองกลุ่มเสี่ยงและทราบความผิดปกติในระยะเริ่มต้นจะนำไปสู่การรักษาได้อย่างรวดเร็วและลดการสูญเสียจากโรคได้

คำสำคัญ :  มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก, การตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ, การส่องกล้องลำไส้ใหญ่

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2023-12-29

วิธีการอ้างอิง