ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการวิชาชีพตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ

ผู้แต่ง

  • ชยาภรณ์ ศรีสมุทรนาค กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

บทคัดย่อ

           การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยด้านการเป็นคณะกรรมการวิชาชีพ ปัจจัยด้านการบริหารจัดการของคณะกรรมการวิชาชีพ และการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการวิชาชีพตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ (2) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยด้านการบริหารจัดการ กับการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการวิชาชีพตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ และ (3) ศึกษาปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการวิชาชีพตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ โดยประชากรที่ศึกษา คือ คณะกรรมการวิชาชีพตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ จำนวน 157 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบของฟิสเชอร์ และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน โดยค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามโดยใช้สัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค (Cronbach’ Coefficient of Alpha) โดยได้ค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามทั้งฉบับเท่ากับ 0.946

             ผลการศึกษาพบว่า การปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการวิชาชีพตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ มีการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่อยู่ในระดับมาก และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการวิชาชีพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ ปัจจัยด้านการบริหารจัดการของคณะกรรมการวิชาชีพ (p<0.001) โดยปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการวิชาชีพตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะที่พบมากที่สุดได้แก่ การพิจารณาปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นต้องรอตามรอบของการประชุม ซึ่งในหลายครั้งปัญหาเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่น ทำให้เกิดความล่าช้าในการนำมาใช้ปฏิบัติ

คำสำคัญ : การปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่,  คณะกรรมการวิชาชีพ,  กฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2024-04-30

วิธีการอ้างอิง