แรงจูงใจและการสนับสนุนทางสังคมต่อการสมัครใจบำบัด ของผู้ป่วยยาเสพติด ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ของอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี
-
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย (Descriptive research) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ระดับแรงจูงใจ ระดับการสนับสนุนทางสังคม และศึกษาความสัมพันธ์ของแรงจูงใจกับการสนับสนุนทางสังคม กลุ่มประชากรที่ใช้ในการวิจัย คือ ผู้ป่วยยาเสพติด จำนวน 135 คน ที่เข้ารับการบำบัดแบบสมัครใจ ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวน15 แห่ง ของอำเภอจอมบึงจังหวัดราชบุรี ประมวลผลข้อมูลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติบรรยาย ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติสหสัมพันธ์ของเพียร์สัน
ผลการวิจัย พบว่า ประชากรส่วนใหญ่ เป็นเพศชาย มีอายุ 41- 60 ปี สถานภาพโสด การศึกษาระดับประถมศึกษา มีอาชีพรับจ้าง มีรายได้ 5,001-10,000 บาท อาศัยอยู่กับบ้านพ่อ แม่ อยู่เขตชนบท มีการใช้สารเสพติดครั้งแรก คือ บุหรี่ การใช้สารเสพติดครั้งแรก ช่วงอายุ 16-20 ปี เข้ารับการบำบัดจากการเสพประเภทยาบ้าเป็นหลัก มีการเสพสัปดาห์ละ 5-7 วัน มีการใช้ยาเสพติดเป็นเวลา 6-10 ปี ส่วนใหญ่ ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีอาการหวาดระแวง ไม่มีอาการก้าวร้าว ไม่คิดทำร้ายตนเอง อยู่ในครอบครัวด้วยความราบรื่น พบว่า แรงจูงใจต่อการเข้ารับการบำบัดแบบสมัครใจ โดยรวม อยู่ในระดับปานกลาง (μ= 2.86, σ =0.23) มีการสนับสนุนทางสังคมต่อการเข้ารับการบำบัดแบบสมัครใจ โดยรวมอยู่ในระดับ ปานกลาง (μ = 3.10, σ = 0.48 ) ความสัมพันธ์ระหว่างแรงจูงใจกับแรงสนับสนุนทางสังคมต่อการเข้ารับการบำบัดแบบสมัครใจ โดยรวมอยู่ในระดับต่ำ (r = 0.365) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.01 ความสัมพันธ์ระหว่าง แรงจูงใจขั้นตัดสินใจกับการสนับสนุนทางสังคมด้านทรัพยากร (r = 0.399) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ความสัมพันธ์ระหว่างแรงจูงใจขั้นกระทำต่อเนื่องกับการสนับสนุนทางสังคมด้านอารมณ์ (r = 0.356) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ความสัมพันธ์ระหว่างแรงจูงใจขั้นกระทำต่อเนื่องกับการสนับสนุนทางสังคมด้านข้อมูลข่าวสาร (r = 0.243) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
การสนับสนุนทางสังคมมีความสัมพันธ์กับแรงจูงใจและมีผลต่อการสมัครบำบัดของผู้ป่วยยาเสพติด หน่วยงานด้านการบำบัดต้องให้ความสำคัญในการสร้างแรงจูงใจและให้การสนับสนุนด้านสังคม ทรัพยากร สนับสนุนครอบครัว และชุมชนให้มีบทบาทในการร่วมดูแล เพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยยาเสพติดได้เข้าถึงการบำบัดแบบสมัครใจที่มีคุณภาพและมาตรฐาน และสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ปกติสุข
คำสำคัญ : การบำบัดแบบสมัครใจ / ผู้ป่วยยาเสพติด / แรงจูงใจ / การสนับสนุนทางสังคม
ดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
วิธีการอ้างอิง
ฉบับ
บท
การอนุญาต
ลิขสิทธิ์ (c) 2024 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.