ปัจจัยความสำเร็จแนวทางการดำเนินงานสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานเข้าสู่ระยะสงบ “Diabetes Remission”
บทคัดย่อ
การถอดบทเรียนแนวทางการดำเนินงานสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานเข้าสู่ระยะสงบ “Diabetes Remission” โดยการศึกษาจากเอกสาร จับประเด็นจากการเสนอผลการดำเนินงานและการลงพื้นที่สัมภาษณ์เชิงลึก 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก สำนักงานสาธารณสุขอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา และโรงพยาบาลบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยแต่ละแห่ง ประกอบด้วย ผู้บริหาร ผู้ให้บริการ/ผู้พัฒนา เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักโภชนการ นักวิชาการสาธารณสุข ผู้ร่วมดำเนินการ (อสม./ผู้นำหมู่บ้านและเครือข่ายอื่นๆ) ผู้รับบริการ (ผู้ป่วย DM) เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์มีแนวทางการดำเนินงานสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานเข้าสู่ระยะสงบ เกิดการดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 อย่างครอบคลุมและเป็นระบบ อันจะนำไปสู่การพัฒนาการดูแลผู้ป่วยที่มีมาตรฐานและเหมาะสมตามบริบทต่างๆ ของประเทศ ประโยชน์ที่คาดหวังคือผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี เข้าสู่เบาหวานระยะสงบ และลดค่าใช้จ่ายการรักษา ลดอัตราป่วย และอัตราการเสียชีวิต
จากการศึกษาทั้ง 3 แห่ง ใช้หลักการดำเนินงาน โดยยึดกรอบแนวคิด 6 Building Blocks ประกอบด้วย การให้บริการ บุคลากร ระบบสารสนเทศด้านสุขภาพ ยาและเวชภัณฑ์ ระบบการคลังด้านสุขภาพ และภาวะผู้นำและธรรมภิบาล การวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) จำแนกแยกแยะข้อมูลโดยใช้ความเป็นเหตุเป็นผลอาศัยการตีความ (Interpretation) เนื้อหาจากเรื่องราวที่ปรากฏและเชื่อมโยงความเกี่ยวข้องของข้อมูล ปัจจัยความสำเร็จ แบ่งเป็น 2 ด้าน ได้แก่ ด้านกระบวนการ ซึ่งประกอบด้วย การวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วย
แต่ละรายที่เข้ารับบริการและแบ่งกลุ่มการเลือก intervention ที่ง่าย ดี เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะ Remission อย่างรวดเร็ว ออกแบบการสื่อสารและสร้างแรงบันดาลใจ นำไปสู่ soft skill intensive care ใช้ค่า BMI และประวัติการกินยาของผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อกำหนด treatment goal วางแผนเรื่องการติดตาม SMBG /ความพร้อมและติดตามผล ส่งเสริมให้ผู้ป่วยทำ self-monitoring และบันทึกข้อมูลผ่าน platform ค้นหาผู้ป่วยต้นแบบที่สามารถเข้าสู่ภาวะ Remission พัฒนาคุณภาพ NCD Clinic โดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย ดูแลโดยทีมสหวิชาชีพ / ให้คำปรึกษารายกรณี การออกแบบให้มีปัจจัยสนับสนุนในชุมชน เช่น มีสินค้าสุขภาพ หรือสถานที่ออกกำลังกาย ทบทวนระบบบริการและพัฒนาต่อเนื่อง ปัจจัยความสำเร็จด้านการบริหารจัดการ ประกอบด้วย การมีเป้าหมายที่ชัดเจน มองเป้าหมายไปทิศทางเดียวกัน การมองผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ผู้บริหารสนับสนุนหรือเป็นหัวหน้าทีม การทำงานเป็นทีม (Team Work) การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนา ภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วม การปฏิบัติตามแผนงาน การกำกับติดตามอย่างต่อเนื่อง
ดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
วิธีการอ้างอิง
ฉบับ
บท
การอนุญาต
ลิขสิทธิ์ (c) 2024 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.