ความสัมพันธ์ระหว่างโรคอ้วนกับปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดในบุคลากรโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
บทคัดย่อ
บทนำ: โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการป่วยและการตายอันดับหนึ่งของชาวโลก และเป็นปัญหาที่สำคัญทางด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับโรคอ้วน (Obesity) ซึ่งเป็นสภาวะที่ร่างกายมีน้ำหนักตัวเกินกว่าปกติและมีการสะสมของไขมันใต้ผิวหนังมากเกินไปจนมีผลกระทบต่อสุขภาพ การตรวจสุขภาพประจำปีจะช่วยให้สามารถค้นหากลุ่มเสี่ยงได้อย่างทันท่วงที ดังนั้นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโรคอ้วนกับปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดในบุคลากรโรงพยาบาลสมเด็จ พระเจ้าตากสินมหาราชที่มารับการตรวจสุขภาพประจำปี จะเป็นประโยชน์เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประเมินภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดและเป็นข้อมูลในการส่งเสริมสุขภาพของบุคลากรต่อไป
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโรคอ้วนกับปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดในบุคลากรโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาแบบ Analytic cross-sectional study ที่กลุ่มงานอาชีวเวชกรรม โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ศึกษาในกลุ่มบุคลากรของโรงพยาบาลที่มารับการตรวจสุขภาพประจำปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 ถึงเดือนกันยายน 2561 ที่มีอายุ 35-60 ปี จำนวน 576 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลเพศ อายุ ส่วนสูง น้ำหนัก ค่าดัชนีมวลกาย เส้นรอบเอว ความดันโลหิต ระดับไตรกลีเซอไรด์ ระดับน้ำตาลขณะอดอาหาร และระดับกรดยูริก คัดแยกดัชนีมวลกายออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ น้ำหนักปกติ (BMI=18.5-22.9 kg/m2) น้ำหนักเกิน (BMI=23-24.9 kg/m2) และโรคอ้วน (BMI ≥25 kg/m2) อธิบายข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา วิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างกลุ่มด้วย One-Way ANOVA และ Kruskal-Wallis test วิเคราะห์ความสัมพันธ์ด้วย Partial correlation และวิเคราะห์ความเสี่ยงสัมพัทธ์ต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยใช้ Multivariable logistic regression
ผลการศึกษา: กลุ่มบุคลากรที่มีดัชนีมวลกายสูง มีความสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่มีน้ำหนักปกติและควบคุมอิทธิพลของอายุและเพศแล้ว พบว่ากลุ่มโรคอ้วนเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน 2.79 เท่า (95% CI 1.17-6.68, p=0.021) โรคไขมันในเลือดสูง 2.49 เท่า (95% CI 1.33-4.67, p=0.005) และโรคเก๊าท์ 2.46 เท่า (95% CI 1.21-5.02, p=0.013)
สรุป: บุคลากรที่มีภาวะอ้วนมีความสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลควรมีมาตรการในป้องกันปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวในบุคลากร เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต
คำสำคัญ: โรคอ้วน, ดัชนีมวลกาย, ปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด, บุคลากรทางการแพทย์