แนวทางการดูแลระงับปวดในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

ผู้แต่ง

  • สาวิกา ภิญโญ กลุ่มงานวิสัญญี โรงพยาบาลแพร่

บทคัดย่อ

           ในปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในแต่ละปี ทั้งนี้เนื่องจากจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่มากขึ้น  มีการพัฒนาอุปกรณ์เทียมและเทคนิคการผ่าตัดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นสามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมถือเป็นการผ่าตัดที่ใหญ่ ส่งผลต่อระบบสรีรวิทยาทางร่างกายหลายด้าน สัมพันธ์กับระดับความปวดหลังผ่าตัดในระดับสูง ดังนั้นการวางแผนจัดการดูแลระงับปวดและการทำกายภาพจะต้องมีประสิทธิภาพและควรมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ทั้งนี้เพื่อให้ลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ป่วยให้น้อยที่สุด สามารถกลับบ้านได้ตามระยะเวลาที่เหมาะสม และกลับมาใช้ข้อเข่าเทียมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          เนื่องจากผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว การดูแลระงับปวดที่ไม่ดี จะเกิดผลเสียต่อผู้ป่วยหลายด้าน เช่น ภาวะแทรกซ้อนทางระบบหัวใจและหลอดเลือดภาวะแทรกซ้อนทางระบบทางเดินหายใจ ซึ่งทำให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น แต่หากการระงับปวดทำได้ดี  ก็ทำให้การทำกายภาพสามารถทำได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้สามารถลดจำนวนวันนอนโรงพยาบาล ลดภาวะแทรกซ้อน และสามารถเพิ่มความพึงพอใจให้แก่ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด โดยปัจจุบันการระงับปวดใช้หลักการระงับปวดแบบผสมผสาน(multimodal analgesia) ซึ่งได้แก่ การใช้เทคนิคการฉีดยาชาเข้าช่องน้ำไขสันหลัง (spinal anesthesia) การฉีดยาชาสกัดกั้นเส้นประสาทเฉพาะจุด (peripheral nerve block) การฉีดยาชารอบข้อเข่า (periarticular infiltration) และการใช้ยาแก้ปวดโดยสามารถบริหารยา  ทั้งทางเส้นเลือดดำหรือทางการรับประทาน โดยหากมีการจัดการดูแลระงับปวดก่อนที่จะผ่าตัด (preemptive analgesia) ก็จะยิ่งเพิ่มคุณภาพการระงับอาการปวดได้มากขึ้นและลดภาวะแทรกซ้อนจากการได้รับยาแก้ปวดอนุพันธุ์ฝิ่น ดังนั้นการพัฒนาแนวทางการระงับปวดและการทำกายภาพหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ยังคงต้องพัฒนาต่อไป โดยอ้างอิงหลักวิชาการที่มีการทดลองตามระเบียบงานวิจัย และใช้ทีมสหสาขาวิชาชีพเพื่อร่วมกันวางแผนดูแลผู้ป่วยตั้งแต่ระยะก่อนผ่าตัดจนถึงหลังผ่าตัดและมีการระบบการติดตามผู้ป่วยที่ดี เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น และนำข้อมูลมาปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาแนวทางการดูแลผู้ป่วยเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ให้มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยที่มาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-08-19

วิธีการอ้างอิง