ความชุกของโรคไตวายเรื้อรังและปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการทำงานของไตลดลง ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ในศูนย์สุขภาพชุมชนเขตเมืองร่องซ้อ จังหวัดแพร่

ผู้แต่ง

  • จิรวัฒน์ สีตื้อ โรงพยาบาลแพร่

บทคัดย่อ

บทนำ:            ภาวะแทรกซ้อนระยะยาวที่สำคัญของผู้ป่วยโรคเบาหวาน คือ ไตวายเรื้อรังศูนย์สุขภาพชุมชนเขตเมืองร่องซ้อ มีจำนวนผู้ป่วยโรคไตวายจากเบาหวานเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย ของระดับประเทศและยังไม่มีข้อมูลที่เป็นระบบที่ชัดเจน ผู้วิจัยจึงต้องการศึกษาความชุกของ โรคไตวายเรื้อรังของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้การทำงานของไตลดลงเพื่อทราบข้อมูลในระดับบุคคลและระดับพื้นที่เพื่อนำข้อมูลมาเป็นแนวทางในการเฝ้าระวัง คัดกรอง ดูแลรักษา ควบคุม ปัจจัยเสี่ยง ในแต่ละกลุ่มเพื่อชะลอหรือลดภาวะไตวายเรื้อรังของผู้ป่วยโรคเบาหวานต่อไป

วิธีการศึกษา:     การศึกษานี้เป็นการวิจัยแบบ Retrospective cohort study 1 กลุ่มการศึกษาโดยศึกษาในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ลงทะเบียนรักษาแบบต่อเนื่องที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเขตเมืองร่องซ้อ จังหวัดแพร่ จำนวน 300 คน ศึกษาในช่วง 1 กุมภาพันธ์ 2562–31 ตุลาคม 2562 

ผลการศึกษา:    ผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งหมด 300 คน อายุเฉลี่ย 65.25 ปี (37-96 ปี)  พบภาวะไตวายเรื้อรัง (eGFR <60ml/min/ 1.73m2) จำนวน 90 คน (ร้อยละ 30.0) เป็น CKD stage 3a จำนวน 46 คน (ร้อยละ 15.3), CKD stage 3b จำนวน 35 คน (ร้อยละ 11.7), CKD stage 4 จำนวน 9 คน (ร้อยละ 3.0) พบโปรตีนในปัสสาวะ (urine albumin strip) ร้อยละ 78.5 เมื่อนำมาวิเคราะห์ถดถอยพบปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะไตวายเรื้อรังในผู้ป่วยเบาหวานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) คือ อายุ (OR=1.042, 95% CI 1.016-1.069) ระยะเวลาที่เป็นโรคเบาหวาน (OR=4.750, 95% CI 1.470-15.351) ระดับน้ำตาลสะสม (HbA1C) (OR=1.358, 95% CI 1.128, 1.636) การมีโรคประจำตัว คือ ความดันโลหิตสูง (OR=16.056, 95% CI 6.261-41.170) และโรคไขมันในเลือดสูง (OR=5.825, 95% CI 3.142-10.797)

สรุป:              ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่รักษาต่อเนื่องในศูนย์สุขภาพชุมชนเขตเมืองร่องซ้อ มีลักษณะทางคลินิกของผู้ป่วยในการศึกษานี้เป็นระดับการให้บริการปฐมภูมิ พบภาวะภาวะไตวายเรื้อรังจำนวนมาก การให้การคัดกรอง เฝ้าระวัง ร่วมกับการมีแนวทางการรักษาที่เป็นมาตรฐาน และต่อเนื่องมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยอย่างเป็นระบบร่วมกับการให้การดูแลแบบสหวิชาชีพตามหลักการเวชศาสตร์ครอบครัว จะสามารถชะลอหรือลดโรคไตวายเรื้อรังในผู้ป่วยเบาหวานได้

คำสำคัญ:         ไตวายเรื้อรัง, ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2, ความชุก, ปัจจัยเสี่ยง, หลักการเวชศาสตร์ครอบครัว

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-08-20

วิธีการอ้างอิง