การศึกษาเปรียบเทียบเทคนิคการเย็บหลอดเลือดแบบฝีเย็บทีละปมและฝีเย็บต่อเนื่อง ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเชื่อมต่อหลอดเลือดบริเวณข้อมือสำหรับการรักษาทดแทนไต

ผู้แต่ง

  • อนุสรณ์ กองก่อ กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลแพร่

บทคัดย่อ

บทนำ:               การผ่าตัดเชื่อมต่อหลอดเลือดบริเวณข้อมือ ชนิด Radiocephalic arteriovenous fistula เป็นรูปแบบการสร้างหลอดนำเลือด (vascular access) ที่นิยมและเป็นมาตรฐานในการรักษาทดแทนไต โดยวิธีการฟอกเลือด แต่ความสำเร็จจากการผ่าตัดดังกล่าวมีเพียงประมาณร้อยละ 50-65 ซึ่งโดยทั่วไป ใช้เทคนิคการเย็บแบบฝีเย็บต่อเนื่อง ในขณะที่เวชปฏิบัติการเชื่อมต่อหลอดเลือดในจุลศัลยกรรมถือเอาเทคนิคการเย็บแบบฝีเย็บทีละปมเป็นมาตรฐานซึ่งได้ผลดี

วัตถุประสงค์:      เพื่อเปรียบเทียบความสำเร็จในการผ่าตัดเชื่อมต่อหลอดเลือดดังกล่าว ระหว่างเทคนิคแบบฝีเย็บทีละปมและฝีเย็บต่อเนื่อง

วิธีการศึกษา:      ทำการศึกษาการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 รวบรวมผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยภาวะพร่องการทำงานของไตระยะสุดท้าย (chronic kidney disease; CKD stage 4) หรือภาวะไตวาย (ESRD) ที่มีข้อบ่งชี้สำหรับการการรักษาทดแทนไต โดยวิธีการฟอกเลือดและต้องการใช้หลอดนำเลือด (vascular access) ชนิดถาวร จำนวนทั้งสิ้น 64 ราย สุ่มแบ่งเป็นสองกลุ่มการศึกษา ซึ่งผู้เข้าร่วมวิจัยแต่ละกลุ่มจะได้รับการผ่าตัดในแต่ละเทคนิค เพื่อเปรียบเทียบกัน ในกลุ่มทดลองจะได้รับการผ่าตัด  ด้วยเทคนิคการเย็บหลอดเลือดแบบฝีเย็บทีละปม จำนวน 32 ราย และในกลุ่มควบคุมจะได้รับการผ่าตัดด้วยเทคนิคการเย็บหลอดเลือดแบบฝีเย็บต่อเนื่อง จำนวน 32 ราย ซึ่งการรักษาในกลุ่มหลัง ถือเป็นวิธีการรักษาที่แพร่หลายในปัจจุบัน

ผลการศึกษา:     จากการศึกษาพบว่า ภายหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดเชื่อมต่อหลอดเลือดและมีการติดตามผู้ป่วยเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ พบอัตราความสำเร็จของการผ่าตัดแบบฝีเย็บทีละปมมีมากกว่า  เมื่อเปรียบเทียบกับฝีเย็บแบบต่อเนื่อง แต่ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ร้อยละ 84.38 กับ 78.3 ตามลำดับ) และความสามารถในการใช้หลอดเลือดสำหรับฟอกเลือด เป็นไปในทิศทางเดียวกัน (ร้อยละ 75.00 กับ 71.8 ตามลำดับ) และยังคงไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

สรุป:                 เทคนิคแบบฝีเย็บทีละปมในการเชื่อมต่อหลอดเลือดชนิด radiocephalic arteriovenous fistula มีประสิทธิภาพไม่เหนือไปกว่าเทคนิคแบบฝีเย็บต่อเนื่อง ทั้งนี้การพิจารณาปัจจัยร่วมอื่น ๆ ในผู้ป่วยแต่ละราย อาทิเช่น ลักษณะกายวิภาค ขนาดหลอดเลือดและความชำนาญของศัลยแพทย์ เป็นต้น จะสามารถช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จในการผ่าตัดเชื่อมต่อหลอดเลือดเพื่อการรักษาทดแทนไตได้

คำสำคัญ:         การเย็บเชื่อมต่อหลอดเลือด, การรักษาทดแทนไต, การฟอกเลือดทางหลอดเลือด, หลอดนำเลือดชนิดถาวร

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-08-30

วิธีการอ้างอิง