การศึกษาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเด็กโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียที่ต้องรับเลือดเป็นประจำ ที่โรงพยาบาลแพร่

ผู้แต่ง

  • พจนพร งามประภาสม กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลแพร่

บทคัดย่อ

บทนำ:             โรคโลหิตจางธาลัสซีเมียเป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย ภาวะซีดเรื้อรังส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ การรักษาด้วยการให้เลือดอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อน ยืดอายุและเพิ่มคุณภาพชีวิตแก่ผู้ป่วยได้ 

วัตถุประสงค์:     เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียที่ต้องรับเลือดเป็นประจำ อายุระหว่าง   2-18 ปี ที่ต้องมารับเลือดเป็นประจำทุก 2-6 สัปดาห์ ที่แผนกผู้ป่วยกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลแพร่

วิธีการศึกษา:      การศึกษานี้เป็นการวิจัยแบบ Cross-sectional design คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงจำนวน 92 ราย และใช้แบบสอบถามคุณภาพชีวิตสำหรับเด็ก Pediatric Quality of Life InventoryTM (PedsQLTM) รุ่นที่ 4.0 ฉบับภาษาไทย ประเมินคุณภาพชีวิต 4 ด้าน ได้แก่ ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ ด้านสังคม และด้านโรงเรียน

ผลการศึกษา:     ผู้ป่วยเด็กโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียที่ต้องรับเลือดเป็นประจำมีคะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับดี มีคะแนนโดยรวมทุกด้านคิดเป็น 86.94 + 9.41 คะแนนเฉลี่ยสูงสุดคือด้านสังคม คิดเป็น 90.18 คะแนน รองลงมาคือด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ และด้านโรงเรียน โดยมีคะแนนเฉลี่ยคิดเป็น 87.73, 85.30 และ 84.08 คะแนน ตามลำดับ

สรุป:                ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิต ได้แก่ ผู้ดูแลหลัก และชนิดของยาขับเหล็ก (p<0.05) งานวิจัยนี้ พบว่า ผู้ป่วยเด็กโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียที่ต้องรับเลือดเป็นประจำมีคะแนนคุณภาพชีวิตต่ำสุด คือ ด้านโรงเรียนเกี่ยวกับการขาดเรียน การพัฒนาศักยภาพการให้เลือดของโรงพยาบาลใกล้บ้าน จะทำให้เด็กไม่ต้องขาดเรียนบ่อย ๆ ลดระยะเวลาการมารับบริการจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้

คำสำคัญ:          คุณภาพชีวิต, ผู้ป่วยเด็กโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียที่ต้องรับเลือดเป็นประจำ

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-08-30

วิธีการอ้างอิง