ผลของการให้คำปรึกษาต่อความวิตกกังวลของสตรีที่มีผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกผิดปกติ

ผู้แต่ง

  • วารินทร์ โชติปฎิเวชกุล กลุ่มงานการพยาบาลผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลแพร่

บทคัดย่อ

บทนำ:               มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับสองของโรคมะเร็งในสตรีไทย เป็นมะเร็งที่สามารถป้องกันได้โดยการตรวจคัดกรองให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายและเมื่อตรวจพบความผิดปกติสามารถรักษาให้หายได้ในระยะก่อนมะเร็ง สตรีที่ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแล้วพบความผิดปกติ จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยเพิ่มเติมและการรักษา เพราะจะมีโอกาสเปลี่ยนแปลงไปเป็นมะเร็งระยะลุกลามหรือการกลับเป็นของรอยโรคได้อีก สตรีที่ตรวจพบความผิดปกติส่วนใหญ่ จึงมักคิดคาดการณ์ไปหลายอย่าง คิดว่าเป็นมะเร็ง กลัวที่จะรับทราบผลการตรวจชิ้นเนื้อ ทำให้เกิดความวิตกกังวล การให้คำปรึกษาเป็นการช่วยเหลือของพยาบาลวิชาชีพที่จะช่วยให้สตรีที่ตรวจพบความผิดปกติ ลดความวิตกกังวลในการเข้ารับการรักษา

วัตถุประสงค์:      เพื่อศึกษาผลของการให้คำปรึกษาต่อความวิตกกังวลของสตรีที่มีผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกผิดปกติ

วิธีการศึกษา:      การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาแบบ Before-after design with control  ประชากรที่ศึกษา คือ สตรีที่มีผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกพบเซลล์ผิดปกติ ที่มารับบริการที่แผนกผู้ป่วยนอกสูตินรีเวชโรงพยาบาลแพร่ ได้รับการวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยการส่งตรวจชิ้นเนื้อและการรักษา ในระหว่างเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2562 ถึง เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 จำนวน 60 ราย กลุ่มทดลองได้รับคำปรึกษาร่วมกับการดูแลตามปกติ  กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แผนการให้คำปรึกษา 2) แบบประเมินความวิตกกังวลขณะเผชิญของสปิลเบอร์เกอร์ (Spielberger) วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลพื้นฐานของทั้งสองกลุ่มด้วยสถิติ exact probability test, ranksum test, t-test และวิเคราะห์เปรียบเทียบ คะแนนความวิตกกังวล   กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ก่อนและหลังให้คำปรึกษาด้วยสถิติ paired t–test

ผลการศึกษา:     กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 60 ราย เป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 30 ราย ค่าเฉลี่ยคะแนนความวิตกกังวล หลังการให้คำปรึกษาระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม พบว่า คะแนนความวิตกกังวลของกลุ่มทดลองเท่ากับ 39.6±3.8 คะแนน กลุ่มควบคุมเท่ากับ 48.0±6.9 คะแนน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001)

สรุป :                สตรีที่มีผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกผิดปกติ ควรได้รับการให้คำปรึกษาเพื่อลดความวิตกกังวลเกี่ยวกับความผิดปกติที่เกิดขึ้นและการรักษาที่จะได้รับ

คำสำคัญ:          การให้คำปรึกษา, ความวิตกกังวล, การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก, ความผิดปกติที่เซลล์ปากมดลูก  

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-08-30

วิธีการอ้างอิง