ผลกระทบของการนำส่งสิ่งส่งตรวจทางระบบท่อลมขนส่งต่อค่าการตรวจการแข็งตัวของเลือด ในโรงพยาบาลแพร่

ผู้แต่ง

  • ประเสริฐ จันทนสกุลวงศ์ โรงพยาบาลแพร่
  • ธนวัฒน์ชัย สุริยะ โรงพยาบาลแพร่
  • จุไรรัตน์ ถุงเงิน โรงพยาบาลแพร่

บทคัดย่อ

บทนำ:            ระบบท่อลมขนส่ง Pneumatic tube system (PTS) ช่วยลดระยะเวลาในการนำส่งและ แบ่งเบาภาระงานของเจ้าหน้าที่หอผู้ป่วย การศึกษาวิจัยผลกระทบต่อค่าการตรวจ   ทางห้องปฏิบัติการในแต่ละแห่งที่ติดตั้งระบบท่อลมขนส่งจึงมีความสำคัญ ความเร็วในนำส่งระยะทางของท่อลม และปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่างกันระหว่างสถานีส่งกับสถานีรับก็มีผลกระทบต่อสิ่งส่งตรวจ ที่ผ่านมามีข้อแนะนำว่าการนำส่งสิ่งส่งตรวจผ่านทางระบบท่อลมขนส่งอาจมีผลกระทบต่อค่าการตรวจการแข็งตัวของเลือด จึงควรศึกษาเปรียบเทียบและทวนสอบถึงผลกระทบต่อค่าการตรวจการแข็งตัวของเลือดเพื่อความชัดเจนในการกำหนดแนวทางการนำส่ง

วัตถุประสงค์:    เพื่อศึกษาผลกระทบของการนำส่งสิ่งส่งตรวจทางระบบท่อลมขนส่งต่อค่าการแข็งตัวของเลือด ในโรงพยาบาลแพร่ เปรียบเทียบกับการนำส่งโดยเจ้าหน้าที่นำส่ง จากกลุ่มงานอุบัติเหตุฉุกเฉินซึ่งมีระยะทางท่อลมสั้นที่สุด และจากหอผู้ป่วยอายุรกรรมหญิง 2 ซึ่งมีระยะทางท่อลมยาวที่สุด

วิธีการศึกษา:    ใช้สิ่งส่งตรวจของตึกผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินจำนวน 114 ราย, ห้องตรวจผู้ป่วยนอกปฐมภูมิ 5 ราย  และหอผู้ป่วยอายุรกรรมหญิง 2 จำนวน 44 ราย ที่มีการสั่งตรวจการแข็งตัวของเลือด ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 รวม 163 ราย โดยเจาะเลือดจากเส้นเลือดดำ แบ่งใส่หลอด 3.2% Sodium citrate 2 หลอด กลุ่มที่ 1 นำส่งโดยระบบท่อลมขนส่ง กลุ่มที่ 2 นำส่งโดยเจ้าหน้าที่นำส่งของหน่วยงานที่เจาะเก็บเลือด นำส่งถึงห้องปฏิบัติการโลหิตวิทยาและจุลทรรศน์ศาสตร์ ปั่นแยก Plasma ที่ความเร็วรอบ 3000 rpm 10 นาที และทำการตรวจหาค่าการแข็งตัวของเลือด PT, INR และ  a-PTT ตัวอย่างทั้งสองตรวจความสมบูรณ์ของเลือด CBC ด้วยเครื่องตรวจเม็ดเลือดอัตโนมัติ

ผลการศึกษา:    ความเร็วของระบบท่อลม เฉลี่ยเท่ากับ 3.43 เมตรต่อวินาที (1.66-3.76) ระยะทางท่อลมที่ยาวที่สุด คือ ที่หอผู้ป่วยอายุรกรรมหญิง 2 คือ 188 เมตร มีความเร็วเฉลี่ยในการส่ง 3.68 เมตร   ต่อวินาที (3.62-3.76) ระยะทางท่อลมที่สั้นที่สุด คือ ตึกผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน คือ 68 เมตร มีความเร็วเฉลี่ยในการส่ง 1.74 เมตรต่อวินาที (1.66-1.84) ค่าการตรวจการแข็งตัวของเลือดจากทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p=0.5-0.7

สรุป:              การนำส่งเลือด ด้วยระบบท่อลมขนส่งของโรงพยาบาลแพร่ด้วยระยะทางระหว่าง 68-188 เมตรที่ความเร็วของกระสวยระหว่าง 1.66-3.76 เมตรต่อวินาที ไม่ส่งผลกระทบต่อค่าการตรวจค่า การแข็งตัวของเลือด PT และ a-PTT

Key words:     ระบบท่อลมขนส่งในโนโรงพยาบาล, Prothrombin time, Partial Thromboplastin time

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-08-30

วิธีการอ้างอิง