อายุมารดากับผลลัพธ์การตั้งครรภ์ในโรงพยาบาลแพร่
บทคัดย่อ
บทนำ: การตั้งครรภ์ในมารดาวัยรุ่นและมารดาอายุมาก เป็นการตั้งครรภ์ความเสี่ยงสูง ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ระยะคลอด และระยะหลังคลอด ซึ่งส่งผลต่อทั้งมารดาและทารกแรกคลอด
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของช่วงอายุมารดาต่อผลลัพธ์การตั้งครรภ์ ในวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และกลุ่มมารดาอายุมาก ทั้งด้านมารดาและด้านทารก ในหญิงตั้งครรภ์ที่คลอดในโรงพยาบาลแพร่
วิธีการศึกษา: การวิจัยเชิงวิเคราะห์แบบ Retrospective cohort study ของมารดาครรภ์เดี่ยวที่ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรกและคลอดบุตรในโรงพยาบาลแพร่ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2559 ถึง 30 ตุลาคม 2562 จำนวน 2,568 คน ศึกษาหาความสัมพันธ์ของช่วงอายุมารดาต่อผลลัพธ์การตั้งครรภ์ทั้งด้านมารดาและทารกแรกคลอด ในมารดาวัยรุ่นและมารดาอายุมาก เปรียบเทียบกับมารดาวัยผู้ใหญ่ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ Chi square และ ANOVA กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 เปรียบเทียบภาวะแทรกซ้อนในแต่ละกลุ่มอายุ โดยการคำนวณ Odd ratio; OR ช่วงความเชื่อมั่นที่ระดับนัยสำคัญร้อยละ 95
ผลการศึกษา: ในวัยรุ่นมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ต่อการเกิดภาวะโลหิตจาง 2.13 เท่า (p=0.003) คลอดเกินกำหนดในวัยรุ่น 4.28 เท่า (p<0.001) และภาวะทารกน้ำหนักตัวน้อย (<2,500 กรัม) 1.34 เท่า (p=0.04) ในมารดาสูงอายุพบความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ต่อภาวะผิดสัดส่วนระหว่างศีรษะทารกกับเชิงกรานมารดา 1.43 เท่า (p<0.001) และภาวะเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ 3.15 เท่า (p<0.001)
สรุป การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโลหิตจาง คลอดเกินกำหนด และทารกน้ำหนักตัวน้อย การตั้งครรภ์ในมารดาอายุมาก เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะผิดสัดส่วนระหว่างศีรษะทารกกับเชิงกรานมารดา และภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
คำสำคัญ: มารดาวัยรุ่น, มารดาอายุมาก, ผลลัพธ์การตั้งครรภ์, โรงพยาบาลแพร่