ผลของการโคชต่อการปฏิบัติการป้องกันการติดเชื้อในผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง อำเภอสอง จังหวัดแพร่
บทคัดย่อ
บทนำ: การติดเชื้อในเยื่อบุช่องท้องและการติดเชื้อที่แผลท่อล้างไตเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง ส่งผลกระทบให้เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลนานขึ้น และการติดเชื้อในเยื่อบุช่องท้องเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องเสียชีวิต การติดเชื้อในผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องสามารถป้องกันและควบคุมได้ หากผู้ป่วยหรือผู้ดูแลมีความรู้และทักษะการปฏิบัติในการป้องกันการติดเชื้อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบคะแนนการปฏิบัติในการป้องกันการติดเชื้อของผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องที่บ้าน ในอำเภอสอง จังหวัดแพร่ ระหว่างก่อนและการหลังโคช
วิธีการศึกษา: การศึกษาครั้งนี้ เป็นการวิจัยกึ่งทดลองชนิดกลุ่มเดียววัด ก่อน-หลัง กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องใช้วิธีการรักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้องที่บ้านในพื้นที่อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ระหว่าง 1 ตุลาคม 2562-30 กันยายน 2563 จำนวน 28 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการวิจัย ประกอบด้วย แบบบันทึก แผนการโคช คู่มือการป้องกันการติดเชื้อ และโปสเตอร์การล้างมือ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบบันทึกและแบบสังเกตการปฏิบัติการป้องกันการติดเชื้อ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนาและ paired t-test
ผลการศึกษา: พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงร้อยละ 53.57 อายุเฉลี่ย 53.86 ปี มีโรคประจำตัวคือเบาหวานและความดันโลหิตสูง ร้อยละ 53.57 ระยะเวลาล้างไตทางหน้าท้องเฉลี่ย 3.18 ปี คะแนนเฉลี่ยการปฏิบัติในการป้องกันการติดเชื้อโดยรวมก่อนการโคช 7.25 คะแนน และคะแนนเฉลี่ยโดยรวมหลังการโคช 11.92 คะแนน ซึ่งสูงกว่าก่อนการโคชอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 (t=13.122, p=0.000) และคะแนนการจัดสถานที่ล้างไตยังต่ำอยู่
สรุป: การศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ผลของการโคชทำให้ผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องมีการปฏิบัติในการป้องกันการติดเชื้อเพิ่มขึ้น จึงควรส่งเสริมให้มีการนำรูปแบบการโคชไปใช้ในการเพิ่มทักษะการปฏิบัติในการดูแลตนเองแก่ผู้ป่วยในกลุ่มโรคอื่น ๆ ต่อไป
คำสำคัญ: การโคช, การปฏิบัติการป้องกันการติดเชื้อ, ผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง